รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอาคารความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและพักผู้ป่วย 9 ชั้น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ยกระดับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล ทั้งห้องฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ศูนย์ปฏิบัติการรับ – ส่งต่อ ศูนย์บริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยบาดเจ็บและฉุกเฉินในจังหวัดนนทบุรี พร้อมห้องผ่าตัด ศูนย์รังสีวินิจฉัย หอผู้ป่วยรวมกว่า 170 เตียง ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการจากอุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอาคารความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและพักผู้ป่วย 9 ชั้น โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.ณิชาภา สวัสดิกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรเจ้าหน้าที่ร่วมพิธี พร้อมทั้งมีการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพให้แก่ อสม. จังหวัดนนทบุรี จำนวน 100 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัด และยกระดับระบบบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยในส่วนของระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ตามแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย นำไปสู่การลดการสูญเสียชีวิตและความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้กำหนดตัวชี้วัดสำคัญ คือ อัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินก่อนรับไว้ในโรงพยาบาล ไม่เกิน 25 คนต่อประชากรแสนคน สำหรับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความพร้อมในการให้บริการสาขาต่างๆ และเป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแลสุขภาพประชาชนจังหวัดนนทบุรีและใกล้เคียง ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับบริการในแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน เฉลี่ยปีละประมาณ 53,000 ราย การจัดตั้งอาคารความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินและพักผู้ป่วย 9 ชั้น แห่งนี้ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้อย่างครอบคลุม ทำให้ได้การบำบัดรักษาทันท่วงทีลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการจากอุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านพญ.ณิชาภา กล่าวว่า อาคารความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและพักผู้ป่วย 9 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 17,636 ตารางเมตร ได้รับอนุมัติงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงินก่อสร้าง 337 ล้านบาท การออกแบบและก่อสร้างคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาลฉุกเฉินระดับสากล ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ห้องฉุกเฉิน และศูนย์รังสีวินิจฉัย (CT, MRI) ชั้นที่ 2 ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (1669) ศูนย์ปฏิบัติการรับ – ส่งต่อผู้ป่วย ศูนย์บริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยบาดเจ็บและฉุกเฉิน และศูนย์รังสีวินิจฉัย ชั้นที่ 3 ห้องผ่าตัด 4 ห้อง ชั้นที่ 4 หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมอุบัติเหตุ (ICU Trauma) 16 เตียง และ Burn Unit 2 เตียง ห้องแยก 3 ห้อง ชั้นที่ 5 หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกชาย และหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกหญิง 60 เตียง ชั้นที่ 6 หอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุชาย และหอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุหญิง 60 เตียง ชั้นที่ 7 หอผู้ป่วยพิเศษศัลยกรรมอุบัติเหตุ 19 ห้อง ชั้นที่ 8 หอผู้ป่วยพิเศษศัลยกรรมอุบัติเหตุ 19 ห้อง ชั้นที่ 9 ห้องประชุม ขนาด 400 คน นอกจากนี้ ยังจัดสรรพื้นที่สำหรับการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครกู้ชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การประสานงานและส่งต่อผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ