ศน. เผยศาสนิกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วมโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวลกว่า 480,000 คน ร่วมสวดลักขีกว่า 100 ล้านจบ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมเพรียงกันทั่วทุกมุมโลก

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษาและเพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เรียนรู้หลักและวิธีปฏิบัติธรรมฝึกสติสัมปชัญญะ พัฒนาจิตใจให้เกิดความสงบ เป็นสมาธิ จะช่วยให้จิตใจอ่อนโยน ผ่องใส ลดความเครียด สุขภาพจิตดี เกิดความเคารพรักเมตตาต่อกัน ครอบครัวและสังคมสงบสุข อีกทั้งช่วยให้สมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลต่อกระบวนการรับรู้ เช่น การตัดสินใจ การเรียนรู้ ความจำดีขึ้น โดยดำเนินโครงการร่วมกับเครือข่ายศูนย์วิปัสสนาทั่วประเทศ และจัดพิธีเปิด ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 ที่วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร ที่ผ่านมา โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ทั้งยังสนับสนุนวัดเครือข่ายในกรุงเทพมหานครร่วมจัดกิจกรรมวิปัสสนาเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดเวฬุวนาราม (ไผ่เขียว) สำหรับส่วนภูมิภาคได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโครงการและนำร่องผ่านสื่อองค์ความรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1. บรรยายหลักธรรมตามการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนา 2. การเจริญภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม 3. ทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็น 4. เจริญจิตภาวนา ตั้งสติ สมาธิ ปัญญา 5. จัดนิทรรศการหรือจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนา 6. จัดกิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น

อีกทั้งยังขยายผลระดับพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ดังนี้
– ภาคเหนือ จัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม ๒๕๖๗ และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2567 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2567 ณ วัดวชิราลงกรณวราราม จังหวัดนครราชสีมา
– ภาคตะวันออก จัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม ๒๕๖๗ และครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคม 2567 ณ สำนักปฏิบัติธรรม “ธรรมปทีป” จังหวัดชลบุรี
– ภาคใต้ จัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 – 16 สิงหาคม ๒๕๖๗ และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 23 สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ วัดถ้ำสุมะโน จังหวัดพัทลุง

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กรมการศาสนา ได้บูรณาการดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิสถาบันพลังจิตตานุภาพจัดโครงการสวดลักขี 6 ล้านจบ 6 รอบพระชนมพรรษา ทสมราชา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีผู้เข้าร่วมสวดลักขีรวมทั้งสิ้น 117,848,998 จบ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่สำคัญอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน ทั้งนี้ ได้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรทางพระพุทธศาสนา เช่น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สถาบันแม่ชีไทย เป็นต้น และสนับสนุนเครือข่ายองค์กรทางศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ร่วมทำสมาธิ ฝึกจิตใจตามหลักศาสนาของแต่ละศาสนาอีกด้วย

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อการดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เสร็จสิ้นแล้ว มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวนกว่า 480,000 คน (สี่แสนแปดหมื่นคน) ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ มีความปลื้มปีติที่ได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติธรรม ทำสมาธิวิปัสสนาถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และพบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์มากมาย เช่น 1. ทำให้มีสติ จิตใจสงบเป็นสมาธิ เข้าใจหลักธรรมคำสอนมากขึ้น 2. ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันต่อภยันตรายด้านจิตใจ 3. นำสิ่งที่ได้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในบ้าน สถานที่ทำงาน โรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ นำความสงบเรียบร้อยสู่สังคม เกิดเป็นสังคมแห่งความสุข 4. ส่งเสริมการเรียนของนักเรียนเยาวชน สามารถเข้าใจการเรียนวิชาต่างๆมากขึ้น เพราะการมีสมาธิที่ดีในการเรียน ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านคิดเรื่องไร้สาระต่างๆ มีสติปัญญาเฉียบแหลมมากขึ้น ส่งผลให้การเรียนดียิ่งขึ้น 5. ช่วยให้จิตใจผ่องใส อ่อนโยน มีความสุข ทำให้เราเป็นคนสุขุมลุ่มลึก ใจเย็น อารมณ์ดี อ่อนโยนและมองโลกรอบตัวในแง่ดี มีความสุข ทั้งนี้ สมาธิไม่ได้มีเฉพาะในศาสนาพุทธ สมาธิไม่ได้สังกัดในลัทธิศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น คนในศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู ซิกข์ หรือคนไม่มีศาสนา ก็สามารถฝึกสมาธิได้ เพราะสมาธิ คือ ความมั่นใจ หรือความตั้งใจมั่น จึงสามารถฝึกสมาธิได้ตลอดเวลา ทุกลมหายใจ ทุกอิริยาบถ การเดิน ยืน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เมื่อมีความมั่นใจหรือตั้งใจมั่นอยู่ตลอดเวลา เช่น การกำหนดรู้ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว มีชาวต่างชาติหลายประเทศทั่วโลกสนใจการฝึกจิตให้มีสติสัมปชัญญะและมีความสงบตั้งมั่น เรียกว่า การฝึกจิตภาวนา หรือ สมาธิภาวนา แม้การสอนสมาธิก็ยังแพร่หลายไปในหลายประเทศด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างชาติว่า เป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาและยังมีความเข้มข้นในการฝึกหัดด้านสมาธิภาวนา มีแนวการฝึกที่หลากหลาย มีครูบาอาจารย์ที่ให้การสั่งสอนอบรมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆ ของชาวต่างชาติทั่วทุกมุมโลกที่สนใจการฝึกสมาธิภาวนา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมจึงเห็นควรส่งเสริมสนับสนุน วัด/ศาสนาสถานในประเทศไทยให้มีความพร้อมรองรับชาวต่างชาติดังกล่าว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในการเข้ามาเรียนรู้ ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ทำสมาธิภาวนา เพื่อพัฒนาจิตให้มีสติ สงบมั่นคง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่กับศาสนิกชนต่อไปด้วย///