ชป. ลดปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ช่วยพื้นที่ตอนล่าง”

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ที่ดูแลพื้นที่ต้นน้ำชี เร่งจัดการควบคุมการระบายน้ำในเขื่อนที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำชี และอ่างฯ ขนาดกลางทุกแห่งที่ไม่วิกฤต ขณะที่อ่างฯขนาดใหญ่เริ่มปรับลดการระบาย เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลไปสมทบพื้นที่ตอนล่าง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ซึ่งในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ขณะนี้มีพื้นที่น้ำท่วม 67 อำเภอประมาณ 720,000 ไร่ ขณะนี้จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดชัยภูมิ สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลงแล้ว ส่วนจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ยังมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง และลุ่มน้ำเสียวใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยังที่ถูกน้ำท่วมสูง โดยการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำชีให้มีระดับต่ำลง เพื่อตัดยอดน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งลงแม่น้ำชี ก่อนที่จะไหลไปลงแม่น้ำมูล ซึ่งในขณะนั้นปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลยังต่ำ และสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลไปตามทิศทางของน้ำได้ โดยได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาการบรรเทาความเดือดร้อนในพึ้นที่ตอนล่างด้วย
ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำยังเริ่มมีแนวโน้มลดลง และปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เริ่มลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ด้านล่างในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่รวมน้ำที่จะไหลไปรวมกันตามทิศทางของน้ำ จากลุ่มน้ำเสียวใหญ่ ลุ่มน้ำยัง และแม่น้ำชี ไหลไปลงแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานีตามลำดับ

เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว และบรรเ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางมาตรการในการชะลอน้ำในแม่น้ำชีตอนบน ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ด้วยการให้ฝายยางทั้ง 3 แห่งในแม่น้ำชี ได้แก่ ฝายยางบุตามี ฝายยางแก้งสนามนาง และฝายยางกะฮาดน้อย ยกฝายยางขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำและชะลอการไหลของน้ำ ส่วนที่จังหวัดขอนแก่น ได้ลดการระบายน้ำที่ ปตร.D8 ห้วยพระคือ ไม่ให้น้ำไหลลงลำน้ำพองไปลงแม่น้ำชี ส่วนอ่างฯขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด จำนวน 69 แห่ง ได้เริ่มปรับลดการระบายน้ำในอ่างที่อยู่ในเกณฑ์ไม่วิกฤตลงแล้ว จำนวน 49 แห่ง และจะทยอยลดปริมาณการระบายน้ำลงอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังได้ควบคุมการระบายน้ำในเขื่อนที่อยู่ในแม่ชีตอนบน เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลลงไปเติมด้านล่าง เช่น เขื่อนชนบท,เขื่อนวังยาง,เขื่อนมหาสารคาม รวมถึงหยุดการระบายน้ำเขื่อนลำปาว ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำถึง 1,386.30 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดป็น 70 % ขืงความจุอ่างฯ และมีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่องประมาณวันละ 50-80 ล้าน ลบ.ม.

 

นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จากเดิมวันละ 500,000 เป็นวันละ 300,000 ลบ.ม. และปรับลดการระบายน้ำผ่านฝายหนองหวายจากเดิมวันละ 450,000 เหลือวันละ 200,000 ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเสียวใหญ่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ได้ปิดการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำหนองบ่อ รวมทั้ง ได้ปิดการระบายน้ำผ่านบานระบายตามฝายต่างๆ ในเขต อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 6 แห่ง เพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลไปสมทบที่แม่น้ำมูลมากเกินไป การดำเนินการทั้งหมดนี้ เพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลไปเติมพื้นที่ตอนล่าง

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
8 กันยายน 2562