ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.72 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.64-33.79 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้า เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวอ่อนค่าลง ตามการปรับลดโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐาน (Correction) โดยผู้เล่นในตลาดต่างยังคงต้องการถือทองคำ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน เพื่อรอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ เพิ่มเติม อาทิ Tesla -2.5%, Alphabet -1.2% ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -0.33% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.28%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.33% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -1.4%, LVMH -0.7% ก่อนที่จะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ BP +1.0%, Shell +0.6% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังที่ประชุมกลุ่ม OPEC+ มีมติเลื่อนแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิต

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.30% แม้จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นทะลุโซน 4.30% บ้าง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากโซน 4.30% ไปได้ไกล หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับที่มีความน่าสนใจ และมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หลังจากที่ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงก่อนหน้า ตามการปรับลดโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.5-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดัน ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนอยู่ ตามความต้องการของผู้เล่นในตลาดเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาทองคำ ยังคงทรงตัวแถวโซน 2,740-2,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะรู้ผลการเลือกตั้งอย่างเร็วสุดในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การนับคะแนนการเลือกตั้งอาจใช้เวลานานหลายวัน จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งได้ เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2020 ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนตุลาคม ซึ่งอาจยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนว่าภาคการบริการของสหรัฐฯ (มีสัดส่วนเกิน 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่า RBA จะมั่นใจได้ว่า อัตราเงินเฟ้อจะสามารถชะลอลงต่อเนื่องจนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2%-3%

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะรู้ผลการเลือกตั้งได้อย่างเร็วสุด ในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ช่วงทยอยรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัว +/-0.2% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว โดยอาจต้องระวังความเสี่ยงที่ เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับเพิ่มความคาดหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดได้

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์