“สมศักดิ์” ชวนคนไทยปลุกพลังใจต่อสู้ปัญหาด้วย “อึด ฮึด สู้” ในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2567 ชวนคนไทย “ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน” ด้วย 3 คำสำคัญ คือ “อึด ฮึด สู้” ช่วยให้รับมือและก้าวผ่านวิกฤตที่เข้ามาในชีวิต ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน” (Hopeful Hearts, Stronger Minds) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต คณะผู้บริหาร และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่รวดเร็วและซับซ้อน ทำให้การดูแลสุขภาพจิตสำคัญมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่าย ครอบคลุม มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการสร้างพลังใจผ่านคำว่า “อึด ฮึด สู้” เพื่อให้สามารถต่อสู้และผ่านพ้นวิกฤต ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตได้ โดย “พลังอึด” คือ ความอดทนต่อแรงกดดันและความเครียด ช่วยให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยไม่ย่อท้อหรือหมดกำลังใจได้ง่าย ทำให้ไม่แตกสลายจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ส่วน “พลังฮึด” คือ การรวบรวมพลังและทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง ปลุกความมุ่งมั่น แรงจูงใจ ทั้งภายในและภายนอก เปลี่ยนมุมมองที่สิ้นหวังต่ออุปสรรค ให้มีความหวังมากขึ้นและเห็นเป็นโอกาสในการเติบโต และ “พลังสู้” คือ การนำพลังใจและทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อสู้กับปัญหาอย่างมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีสู้กับปัญหาได้อย่างยืดหยุ่น

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 1-7 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและลดการตีตราเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในสังคม โดยในปีนี้ กรมสุขภาพจิตได้กำหนดแนวคิด “ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน” (Hopeful Hearts, Stronger Minds ) เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของพลังใจในการจัดการสุขภาพจิตระหว่างเผชิญวิกฤติชีวิต ทำให้เกิดความหวังและความเข้มแข็งทางจิตใจ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือของประชาชน ชุมชน และสังคม เพื่อก้าวผ่านวิกฤติ มีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การเสวนาถอดบทเรียน พลิกวิกฤตฟื้นคืนสังคมด้วยกลไกการสื่อสาร เหตุการณ์รถบัส 1 ตุลาคม 2567, วีดิทัศน์เสริมสร้างพลังใจในชุมชน ต้นแบบในการเผชิญวิกฤติ และการออกบูท แอปพลิเคชันคัดกรองภาวะซึมเศร้า (DMIND) ตรวจเช็คสุขภาพใจ (Mental Health Check In) และการประเมินสุขภาพจิตด้วย Biofeedback เป็นต้น