นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 33.78-33.99 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็ว ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ในช่วงตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ซึ่งออกมาเพิ่มขึ้น +1.2 หมื่นราย น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว +1.0 แสนราย ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงจนเกือบถึงโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม อาจได้รับผลกระทบจากทั้งพายุเฮอริเคนและการประท้วงหยุดงานของ Boeing ทำให้ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังไม่ได้ชะลอตัวลงหนักจนน่ากังวลมากนัก ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันจันทร์ เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดพนัน (Betting Markets) ที่ล่าสุดประเมินว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะเพียง 54.6% (จาก Polymarket)
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในกรอบ ทว่า เงินบาทก็อ่อนค่าลงได้ ตามแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และจังหวะย่อตัวลงของราคาทองคำ
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึง ผลการประชุม FOMC ของเฟด และ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างเร็วสุดในช่วงสาย-บ่าย ของวันที่ 6 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย โดยผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้พอสมควร เนื่องจากในช่วงก่อนหน้า ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมกับการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน (Republican Trifecta) ทำให้ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades เช่น Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) ซึ่งหากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผิดไปจากที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้พอสมควร ตามการปรับลดสถานะถือครองสินทรัพย์ในธีม Trump Trades (Unwinding Trump Trades) นอกจากนี้ อีกไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ซึ่งเรามองว่า แนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง กอปรกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่จะทยอยเข้าสู่เป้าหมายของเฟด จะทำให้ เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ย -25bps สู่ระดับ 4.50%-4.75% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณของเฟดต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ราว 1 ครั้ง หรือ 25bps และนอกเหนือจาก ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้เช่นกัน
▪ ฝั่งยุโรป – เราประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 4.75% พร้อมส่งสัญญาณทยอยเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องเข้าใกล้เป้าหมายของ BOE อีกทั้งภาพรวมเศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน และนอกเหนือจากผลการประชุม BOE ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) โดยบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างประเมินว่า RBA อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่า RBA จะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องกลับสู่เป้าหมาย 2%-3% ของ RBA ได้ ส่วน BNM อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% เช่นกัน เนื่องจาก BNM อาจยังคงประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันนั้น คือ ระดับที่เป็นกลาง (Neutral Policy Rate) และยังคงเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจของมาเลเซีย ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Labor Cash Earnings) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เนื่องจากอัตราการเติบโตของค่าจ้างระดับ +3%y/y อาจช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่แถวแถวเป้าหมาย 2% ได้ และในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนตุลาคม โดยยอดการส่งออกอาจขยายตัวราว +2.6%y/y ทว่ายอดการนำเข้าอาจหดตัวถึง -4.3% สะท้อนว่าความต้องการในประเทศยังคงซบเซาอยู่ แต่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้น หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนตุลาคม ที่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็มีส่วนกดดันค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงจากช่วงก่อนหน้า และทิศทางจะขึ้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อนึ่ง เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุน หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และนอกเหนือจากทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้เช่นกัน
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์ จะขึ้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อบ้าง ในกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง แต่อาจอ่อนค่าลงได้พอสมควร หาก กมลา แฮร์ริส คว้าชัยชนะ ตามการ Unwind Trump Trades ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจเคลื่อนไหวไปตามมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักด้วยเช่นกัน โดยต้องรอลุ้นทั้งผลการประชุม BOE และ FOMC ของเฟด
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-34.50 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.95 บาท/ดอลลาร์