31 ตุลาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ครั้งที่ 7/2567 พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ตลอดจนคณะกรรมการฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบเพิ่มจำนวนองค์ประกอบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ จากการที่ประชุมฯ ครั้งที่ 6/2567 มีมติให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการลงสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
โดยให้มีคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของ กศจ. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ และ คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา และที่ประชุมเห็นชอบในการปรับเพิ่มจำนวนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ครอบคลุมผู้แทนระดับจังหวัด โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ. 1 คน เป็นประธานฯ คณะอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการหน่วยงานทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่นตามที่กำหนด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้เป็นกรรมการใน กศจ. จำนวนไม่เกิน 3 คน และศึกษาธิการจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ให้มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัดต่อ กศจ.ให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาและจุดเน้นของ ศธ. อีกทั้งขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัด รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA และผลการทดสอบอื่น ๆ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัด ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ กศจ. มอบหมาย
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ครบทุกจังหวัด ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ”
“การเพิ่มองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ จะช่วยให้เกิดความหลากหลายในด้านมุมมองและการวิเคราะห์ปัญหาทางการศึกษา รวมถึงการนำเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์และสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจมีความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แตกต่างกันจะช่วยเสริมสร้างการประสานงานและการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาอย่างยั่งยืนในที่สุด”