วีรศักดิ์’ เร่ง กรมพัฒน์ฯ พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจเต็มที่

วีรศักดิ์ ห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เร่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจเต็มที่ หวังปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ย้ำ!! เป็นวาระสำคัญที่ต้องตระหนักและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เอ่ยชมที่ผ่านมาทำดีอยู่แล้ว…แต่ต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ เนื่องจากโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจมีการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทางการเงินที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เงินระบบ e-Payment หรือ e-Money มากขึ้น รูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกรรมต่างๆ อาทิ FinTech Startup, Crowdfunding หรือแม้กระทั่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเผชิญและเตรียมรับมือ”

“กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าทุกระดับ ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคทางการค้าที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่มีอัตราการแข่งขันสูง การอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในทุกตลาด รวมทั้ง ช่วยปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี อันเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทยมากขึ้น”

รมช.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป เช่น การออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร (e-Certificate) การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Secure) การให้บริการตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางแอพพลิเคชั่น DBD e-Service การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) การจองชื่อนิติบุคคลทางออนไลน์ การให้บริการข้อมูลนิติบุคคลในรูปไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate File) ให้บริการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) และคลังข้อมูลธุรกิจ (DBD Data warehouse) ฯลฯ”

“ทุกภารกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมและมีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างความสะดวก รวดเร็ว และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีที่หน่วยงานราชการได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนชาวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการอำนวยความสะดวกที่ชัดเจน สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง มีระยะเวลาที่แน่นอน และที่สำคัญ คือ ช่วยปรับปรุงกระบวนงานการให้บริการภาครัฐให้มีความรวดเร็วและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น”

“ทั้งนี้ การให้บริการต่างๆ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเห็นควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจถือเป็นวาระสำคัญที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องตระหนักให้มาก และต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเชื่อว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าสามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน และจะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ – การดำเนินธุรกิจ – และความก้าวหน้าของธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น โดยมีภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงที่สำคัญในส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม”

“นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ ระบบ Web Service เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถสืบค้นข้อมูลและนำไปใช้ในการตรวจสอบ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถบริการภาคธุรกิจและประชาชนได้รวดเร็วมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (Zero Copy) ซึ่งขณะนี้ มีหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อมต่อกับระบบ Web Service แล้ว จำนวน 112 หน่วยงาน และในระยะถัดไป กรมฯ จะมีการให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Signature เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชนมากขึ้น” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

**************************************

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า