“พิพัฒน์” ระดมสมองสำเร็จ ก้าวต่อไปประกันสังคม วางนโยบายสิทธิประโยชน์สู่อนาคต ด้านสุขภาพ การแพทย์การลงทุนให้ยั่งยืนเพื่อผู้ประกันตนทุกคน กว่า 24 ล้านคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่างานประชุม SSO SUSTAINABLE FOR ALL วันที่ 25 ตุลาคม 67 วันปิดงาน มีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงานแรงงาน คณะกรรมการประกันสังคม นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง เข้าร่วม ณ ห้อง แซฟไฟร์ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนทำงานในประเทศไทย จำนวนกว่า 24 ล้านคน ที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมของประเทศไทย โดยปี 2568 นี้ สำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดเป้าหมาย ในการยกระดับงานด้านบริการที่ได้มาตรฐาน สะดวกและ รวดเร็ว พร้อมพัฒนาสวัสดิการด้านประกันสังคมที่ดีและเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อการยกระดับและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้ประกันตนทุกคน ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นายจ้าง ผู้ประกันตน ผู้แทนพรรคการเมือง และ ทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยมีผลสรุปประเด็น ทั้ง 4 ห้อง ดังนี้

1 : สิทธิประโยชน์ด้านขยายความครอบคลุมหลักประกันสังคมด้วยสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอ
1.1 ออกแบบระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป และสังคมสูงวัย
1.2 การสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ม.40 หรือ ม.40 PLUS
1.3 การปรับเพดานเงินสมทบ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเงินบำนาญ การบริการทางการแพทย์
1.4 สิทธิรักษาแบบประคับประคอง (PALLIATIVE CARE) คือ การเยียวยากลุ่ม ลูกจ้างที่เจ็บป่วยร้ายแรงจนไม่สามารถทำงานได้หรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง ช่วยครอบครัวให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

2 : ทางการแพทย์ อนาคตของระบบประกันสุขภาพ โดย ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ และนำเทคโนโลยี มาใช้ในการจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้ประกันตน ให้เกิดการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งสร้างระบบ การพยากรณ์ด้านสุขภาพรายบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการป้องกันก่อนเป็นโรคร้ายแรง

3 : แนวทางการบริหารเงินลงทุนสร้างในการสร้างเสถียรภาพโดยคำนึงความเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อตัดสินใจด้านกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป

4 : คณิตศาสตร์ประกันภัย ในความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ต้องเริ่มต้นจากสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถดำเนินการได้โดย
4.1 ปฏิรูปสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ
4.2 การปรับเพดานค่าจ้างเพื่อสร้างสิทธิประโยชน์เพียงพอระหว่าง การทำก่อนเกษียณ
4.3. การลดต้นทุน (รายจ่าย) โดยขยายอำยุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการเก็บเงินสมทบเพิ่ม (ขยายอัตรา) “ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เราทำวันนี้ เพื่ออนาคต และ เตรียมความพร้อมล่วงหน้า

ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง กับงานในวันนี้ ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า เราจะได้แนวทางตามนโยบายด้านประกันสังคม และนโยบายด้านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตน และยังมีงานอีกหลายๆส่วนที่พวกเราทุกคนสามารถพัฒนาการทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างประเทศไทยที่มีความมั่นคงทางสังคม ผมพร้อมเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มกำลังในการยกระดับสิทธิประโยชน์และเพิ่มสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงให้กับผู้ประกันตน” นายพิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้ประชุมมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะนำไปพิจารณา เพื่อให้ประโยชน์ถึงผู้ประกันตนมากที่สุด รวมถึงความเหมาะสม ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคมอยู่เคียงข้างคนไทยตลอดไป