กระทรวงสาธารณสุข หารือคณะกรรมาธิการด้านความเหมาะสมของงบประมาณของวุฒิสภาและผู้บริหารสหรัฐอเมริกา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (TUC) กระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างสองประเทศ ช่วยพัฒนา ความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ภูมิภาค และโลกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Thailand MoPH-U.S.CDC Collaboration หรือ TUC) กับคณะกรรมาธิการด้านความเหมาะสมของงบประมาณของวุฒิสภาและผู้บริหารสหรัฐอเมริกา นำโดย พญ.เมแกน มอทท์ และ พญ.คริสติน รอสส์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดยมี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยประสานงานความร่วมมือฯ เข้าร่วม
นพ.โอภาส กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ TUC อยู่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ ทวิภาคี ระหว่างรัฐบาลไทย-สหรัฐ ด้านเศรษฐกิจและวิชาการ ปี พ.ศ. 2520 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายบนความสนใจและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบขยายข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ส่งผลให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถของประเทศตามเกณฑ์มาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations หรือ IHR) และต่อยอดสู่การพัฒนางานสาธารณสุขไทยในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1) การพัฒนาด้านบุคลากร โดยประเทศไทยเป็นประเทศนอกสหรัฐฯ แห่งแรก ที่มีการดำเนินโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Program – FETP) ปัจจุบัน มีการเรียนการสอนมาแล้ว 39 รุ่น 2) การพัฒนาระบบบริการและจัดการด้านสาธารณสุข อาทิ การจัดการโรคติดเชื้อ HIV, โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น SARS, H5N1, COVID-19 และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operations Center หรือ EOC) และ 3) การพัฒนาด้านโครงสร้าง อาทิ ห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ความก้าวหน้าการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ ACPHEED และการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดิจิทัลของประเทศไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาดำเนินงานแบบแผนปฏิบัติงานเร่งรัด (Quick Win) ได้แก่ 1) สนับสนุนการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (Established Agreement) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้สำนักงาน
เลขาธิการ ACPHEED ที่เขตบางรัก กรุงเทพฯ สามารถเริ่มดำเนินงานตามแผนการได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 2) วางแผนศึกษาดูงานและสร้างความร่วมมือระหว่าง ASEAN กับ CDC ยุโรป, CDC สหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่น ที่เกี่ยวข้อง 3) วางแผนสร้างความร่วมมือในการทำงานด้านต่างๆ ระหว่าง CDC สหรัฐอเมริกา กับสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED เช่น การแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ การสนับสนุนงานศึกษาวิจัย และ 4) ส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพดิจิทัลให้แก่บุคลากรสาธารณสุข เช่น ปรับหลักสูตรโครงการ FETP เพิ่มความเชี่ยวชาญของบุคลากรในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ภูมิภาค และโลก ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น