อนาคตเศรษฐกิจไทยในยุคสังคมสูงวัย รายได้ลดลง ภาระทางการคลังสูงขึ้น แรงงานถดถอย เงินออมน้อยลง ความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือ 

22 ตุลาคม 2567 – สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) และองค์กรเจ้าภาพอีก  10 องค์กร ได้แก่  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมกิจการผู้สูงอายุ, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ร่วมกันจัดเวที “สานพลังไทย รับมือสูงวัย ไปด้วยกัน” (Smart Aging Society, Together we can)” ครั้งที่ 1 มิติเศรษฐกิจ โดยระดมสมองจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวกับการรับมือสังคมสูงวัยกว่า 50 องค์กร

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. สนับสนุนให้มูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) จัดเวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” (Smart Aging Society, Together we can)  ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 1 ระดมสมองใน “มิติเศรษฐกิจ” และยังมีอีก 3 เวทีในส่วนกลาง คือ มิติสภาพแวดล้อม ด้านสังคม และสุขภาพ  รวมถึงการจัดเวทีแบบนี้ในต่างจังหวัดอีก 6 ครั้ง และจัดประชุมวิชาการ 1 ครั้ง เพื่อสานพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนานโยบายรับมือสังคมสูงวัย  แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ บทเรียน รวมถึงจะมีการสังเคราะห์ข้อเสนอทางวิชาการ  เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย  ทั้งระดับชาติและพื้นที่

สช. เห็นความสำคัญกับสถานการณ์สังคมสูงวัย  ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่องผู้สูงอายุเท่านั้น  แต่เป็นประเด็นที่ใหญ่ส่งผลกระทบวงกว้าง ซึ่งมีประเด็นที่ต้องขบคิดในหลายแง่มุม หากดูข้อมูลของสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ รายงานโครงสร้างประชากรในปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี รวมทั้งสิ้น 13.2 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ  20  ของประชากรทั้งหมด และแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ  28 ในปี 2576 และ ในปี 2583 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด  ในขณะที่การเกิดใหม่ของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทยลดลงจาก 2.0 ในปี 2538 เหลือ 1.53 ในปี 2563 และคาดว่าเหลือ 1.3 ในปี 2583   โครงสร้างประชากรในรูปแบบนี้ ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ ที่อีก ไม่นานประชากรวัยแรงงานลดลง รายได้และเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตช้าลง  ในขณะที่ภาระทางการคลังจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุที่สูงขึ้น การออมและการลงทุนลดลง   อุปสงค์ในสินค้าและบริการบางอย่างน้อยลง มีความต้องการสินค้าเฉพาะมากขึ้น และอีกหลายเรื่องที่เป็นความท้าทายว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้และต้องเตรียมการกันอย่างไร ทั้งภาคนโยบายและภาคปฏิบัติการ” เลขาธิการ คสช. กล่าว

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ, อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สปช. ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า การสานพลังรับมือ “สังคมสูงวัย” เป็นการชวนทุกภาคส่วนมองภาพใหญ่ที่ไปไกลกว่า “ผู้สูงอายุ” สำหรับเรื่องมิติเศรษฐกิจที่มีการระดมสมองในวันนี้ได้เชิญหน่วยงาน องค์กรต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน  ซึ่งมีข้อท้าทายหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การส่งเสริมนวัตกรรมและธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์สังคมสูงวัย (2) การสร้างทักษะและทัศนคติที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่ (3) ปรับโครงสร้างตลาดแรงงานให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (4) สร้างความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออม (5) ออกมาตรการดึงดูดแรงงานและส่งเสริมแรงงานแฝง (6) วางระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีความมั่นคงทางการเงิน  โดยแต่ละหน่วยงานองค์กรนำเสนอบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย  และนำข้อมูลความรู้ ประสบการณ์มาเรียนรู้ร่วมกัน และจะทำให้เกิดการสานพลังรับมือสังคมสูงวัยไปพร้อมๆ กัน

สังคมสูงวัย ก็เหมือนกับเรามีระบบโครงสร้างสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง การศึกษา สุขภาพ  สภาพแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี  การสื่อสาร การจัดการต่างๆ ที่เก่า  ในขณะที่ผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี  เด็กเกิดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ จึงเปรียบได้เหมือนกับบ้านก็เก่า คนก็แก่  เราจะรับมือกันอย่างไร เพื่อร่วมกันสร้าง Smart Aging Society” นายแพทย์อำพลกล่าว