รองนายกรัฐมนตรี “ประเสริฐ” ร่วมประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติครั้งแรก ประกาศสนับสนุนการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชน” กลไกสร้างความเข้มแข็งระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ พร้อมผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการฯ ป้องกัน เตรียมการ ตอบโต้ และฟื้นฟู โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ยืนยันในฐานะประธาน คสช. ให้อิสระ กก. ทำงานในฐานะที่ปรึกษาด้านสุขภาพ-สุขภาวะของ ครม. อย่างเต็มที่
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธานการประชุมครั้งแรก มีมติรับทราบ “บทบาทและความร่วมมือในการรับมือภัยพิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อคลี่คลายบรรเทาทุกข์ของประชาชน ทั้งในช่วงก่อนน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และหลังน้ำลด โดยหนึ่งในนั้น คือการสร้างเครือข่ายภัยพิบัติแนวราบด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชน” ขึ้นในระดับชุมชน
สำหรับศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชน จะมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและพื้นที่เป็นฐาน ทำหน้าที่จัดการองค์ความรู้ พัฒนาระบบปฏิบัติการที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นสถานฝึกอบรมชุมชน และสนับสนุนการสื่อสารสังคม สร้างระบบแจ้งเตือนภัยที่เชื่อมโยงกับชุมชน โดยบูรณาการภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนเข้ามาสานพลังการทำงานร่วมกัน อาทิ หน่วยงานด้านสาธารณสุข อาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติ หน่วยงานท้องถิ่น และนักวิชาการ
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จะคลี่คลายลง และเข้าสู่ระยะการฟื้นฟูแล้ว แต่รัฐบาลยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกเหนือจากกลไกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รวมถึงหน่วยราชการระดับกระทรวง กรม สำนักงานต่างๆ ที่ทำงานกันอย่างเข้มข้นแล้ว กลไกความร่วมมือและกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นพลังสำคัญในการรับมืออุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่น้อยกว่า 5 มติ ซึ่งรัฐบาลก็ได้เดินหน้าขับเคลื่อนผ่านการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติต่างๆ และล่าสุดการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชน” อันเป็นผลจากการทำงานของ สช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ถือเป็นเครื่องมือระดับพื้นที่ที่จะช่วยหนุนเสริมมาตรการของรัฐบาล ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้เกิดรูปธรรมการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะศูนย์นี้ จะมีส่วนสำคัญในการปฏิบัติการป้องกัน เตรียมการ ตอบโต้ และฟื้นฟูภัยพิบัติ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยหัวใจคือเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้น ตลอดจนจะมีการสื่อสาร และฝึกซ้อมการรับมือภัยพิบัติเป็นประจำ เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่มีความพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติให้มีการจัดตั้งหน่วยงานองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่สานพลัง ช่วยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม นั่นก็คือ สช. ที่ได้ขับเคลื่อนงานเรื่องบรรเทาอุทกภัยและมีส่วนในการจัดทำนโยบายสาธารณะในการรับมือภัยพิบัติของชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์อุทกภัยปี 2567 สช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟูองค์รวม และระยะสุดท้าย คือการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืน และเพื่อติดตามสถานการณ์และประสานการจัดการภัยพิบัติอุทกภัย ตลอดจนสนับสนุนบทบาทสมัชชาสุขภาพจังหวัดให้มีส่วนร่วม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือภาคีเครือข่ายที่ประสบภัยให้มีประสิทธิภาพ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติอุทกภัย (EOC สช.) ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ด้วย
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ในวันนี้รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุม คสช. ในฐานะประธาน คสช. เป็นนัดแรก เพราะ คสช. ถือเป็นคณะกรรมการด้านสุขภาพและสุขภาวะที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของประเทศไทย เปรียบได้กับคลังสมองด้านสุขภาพและสุขภาวะของประเทศไทย มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน และมีเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ช่วยขับเคลื่อนงานได้จริง ฉะนั้นจึงขอยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนการทำงาน และอยากให้กรรมการทุกท่านได้ทำหน้าที่อย่างมีอิสระเต็มที่ในการให้ข้อเสนอแนะหรือคำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นอกจากการรับทราบ “บทบาทและความร่วมมือในการรับมือภัยพิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” แล้ว ที่ประชุม คสช. ครั้งที่ 4/2567 ยังได้รับทราบและพิจารณาระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของประชาชนในอีกหลายประเด็น อาทิ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร, การจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย, รายงานนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพไทย ประจำปี 2567, การจัดประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ. 2567, การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า, การจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ และ การดำเนินงานของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.)