นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงผลงานเด่นของกรมการขนส่งทางราง หรือ ขร. ว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านระบบขนส่งทางราง ได้เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดินทางของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการขนส่งทางรางให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ โดย ขร. ได้มีการส่งเสริมนโยบายด้านต่าง ๆ ทำให้ในปีดังกล่าวมีประชาชนมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางสูงถึง 510.04 ล้านเที่ยว-คน หรือเฉลี่ยมากกว่า 1.3 เที่ยว-ล้านคนต่อวัน รวมถึงการขนส่งสินค้าทางรางเฉลี่ยต่อปีมีมากถึง 12 ล้านตัน โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้มีการขนส่งที่มากขึ้นนั้นคือมีการพัฒนาเรื่องของโครงข่ายระบบขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ ขร. ได้เร่งรัดผลักดันจนทำให้โครงข่ายรถไฟทางคู่ของไทยมีมากกว่า 1,070 กม. ทำให้ช่วยให้การขนส่งสินค้าหรือการเดินทางมีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไม่ต้องคอยจอดรอรถหลีกให้เสียเวลา และถ้าหากพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ได้มีการประกาศใช้แล้วนั้น ขร. ก็จะสามารถพัฒนาระบบขนส่งทางรางไทยได้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลมากยิ่งขึ้นไป
นายพิเชฐฯ กล่าวต่อว่า นอกจากที่ ขร. จะเร่งรัดผลักดันด้านระบบขนส่งทางรางไทยแล้ว ก็ยังมีการพัฒนาระบบการทำงานของหน่วยงานให้มีความทันสมัย โดยมีการนำระบบดิจิทัลต่าง ๆ มาใช้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชัน “DRT Crossing” ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟที่มักจะเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง หรือ แอปฯ “BKK Rail” ที่จะช่วยให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าในเมืองของคนกรุงสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำระบบดิจิทัลต่าง ๆ มาใช้ ช่วยให้ในประงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขร. ได้รับคะแนนหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ที่มีความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลสูงถึง 88.75 คะแนน หรือ ระดับที่ 4 (Integrated) และนอกจากคะแนนดังกล่าวแล้ว ขร. ยังมีการพัฒนาหน่วยงานด้านต่าง ๆ จนทำให้ได้รับผลการประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 ประจำปี 2567 สูงถึง 475.52 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 4.5 และผลการประเมินอยู่ในระดับพัฒนาให้เกิดผล (Significance) เหตุเพราะ ขร. ได้มีการกำหนดแนวทางและการดำเนินการในเรื่องสำคัญอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรและบรรลุเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งมีการถ่ายทอดแนวทางต่างๆ อย่างเป็นระบบ จนส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูงและขับเคลื่อนองค์การไปสู่ระบบราชการ 4.0
นายพิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ในปี 2568 ขร. ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีระดับสูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการใช้บริการที่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาหน่วยงานขนาดเล็กแต่ภารกิจใหญ่นี้ ให้มีความสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วสมกับเป็นหน่วยงานภาครัฐยุคดิจิทัลต่อไป