คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำประเดิมการประชุมนัดแรก มีมติจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า (ชั่วคราว) แก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา เตรียมรับมือฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงต่อจากนี้ พร้อมใช้คณะกรรมการลุ่มน้ำต่าง ๆ เป็นหน่วยย่อยประสานงานกับศูนย์ฯ เพื่อรับมือฝนตกกระจายได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำ เพื่อสนับสนุนข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับ กนช. และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักวิชาการที่เหมาะสมต่อ กนช. โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำพื้นที่ภาคใต้ในระยะต่อจากนี้ ซึ่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) คาดการณ์ว่า ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงเดือน ธ.ค. 67 พื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนจำนวนมากและตกอย่างต่อเนื่อง โดยฝนจะกระจายตัวทั้งในภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ในวันนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า (ชั่วคราว) เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา ในวันที่ 22 ต.ค. นี้ เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานเชิงรุกแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ ในปีนี้จะให้คณะกรรมลุ่มน้ำของลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคใต้เป็นหน่วยงานย่อยประสานงานกับศูนย์ส่วนหน้าเพื่อดำเนินงานได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ส่วนหน้าจะมีการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงสูง ทั้งความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อเตรียมพร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับรองรับประชาชนหากจำเป็นต้องอพยพด้วย
“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยมีรองเลขาธิการ สทนช. ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ และในระยะยาวจะมีการทบทวนเพื่อถอดบทเรียนนำไปใช้ปรับปรุงการดำเนินงานในฤดูฝนหน้าต่อไป สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของพื้นที่ภาคใต้ เช่น เขื่อนบางลาง ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากในช่วงต่อจากนี้ ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาพร่องน้ำออกจากเขื่อน โดยทยอยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อวัน เป็น 14 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และ 16 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ตามลำดับ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ” ดร.สุรสีห์ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงปลายฤดูฝนนี้ ซึ่งในช่วงนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลางตอนล่างภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยสำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันได้ลดการระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันตกเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และมีการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับ 16 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อช่วยลดการระบายท้ายเขื่อน โดยปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายประมาณ 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะมีการปรับลดลงตามลำดับ คาดว่าปลายเดือนนี้มีแนวโน้มที่จะสามารถลดการระบายลงให้อยู่ในอัตรา 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พร้อมกันนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) พิจารณาใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการประเมินความตื้นเขินของลำน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อชี้เป้าดำเนินการขุดลอกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งได้หารือกับกรมทรัพยากรธรณี ในการใช้เทคโนโลยีหรือแนวทางในการดำเนินการชั่วคราวอย่างเร่งด่วนเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มในบริเวณที่ยังไม่มีสถานีวัดน้ำฝนให้ทันฤดูฝนปีถัดไป เพื่อลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยคณะอนุกรรมการฯ จะรายงานผลการดำเนินงานให้ กนช. ทราบอย่างต่อเนื่อง และรายงานข้อมูลต่อ ศปช. สำหรับประกอบการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป