สช. ระดมภาคีเครือข่าย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาประเด็น “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” เข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 หลายภาคส่วนร่วมกันหารือ-ให้ข้อเสนอถึงทิศทางการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลทั้ง 5 มิติ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาวะ” มุ่งสร้างรายได้ที่อย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งผลกระทบให้คนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็น “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ต่อการพัฒนาร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประเด็น “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมทั้งในสถานที่และผ่านรูปแบบออนไลน์ มากกว่า 200 คน
รศ.พัชนา ใจดี คณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ เปิดเผยว่า จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนถึงประเด็นที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลไกในการร่วมจ่ายของนักท่องเที่ยวที่จะนำไปพัฒนาเป็นกองทุนให้เกิดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวก การให้ความสำคัญกับการจัดการความปลอดภัย โดยเฉพาะในด้านการเดินทาง พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าผู้ให้หรือผู้รับบริการ ฯลฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือร่วมกันถึงการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และบริการท่องเที่ยวแนวใหม่ ด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชนในทุกมิติ การจัดทำแผนที่แสดงศักยภาพชุมชน ตลอดจนการนำพื้นที่รูปธรรมมาเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนมากขึ้น พร้อมการกำหนดบทบาทของหน่วยงานหลัก หรือหน่วยงานเชื่อมประสานที่จะมาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนมตินี้ ซึ่งทางคณะทำงานจะรวบรวมประเด็นและข้อเสนอทั้งหมดเพื่อนำไปพัฒนาเอกสารร่างมติให้มีความครอบคลุมต่อไป
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การเติบโตของการท่องเที่ยวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนในพื้นที่ และอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่สมดุลของระบบนิเวศ จึงจำเป็นต้องบูรณาการให้เกิดการพัฒนา “การท่องเที่ยวแนวใหม่” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ อย่างเท่าเทียมกัน
“หลังจากนี้การท่องเที่ยวจะมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันเป็นเจ้าของ เชื่อว่าข้อเสนอในร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี มีตังค์ และยั่งยืนได้” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ฯ เป็น 1 ใน 2 ระเบียบวาระที่จะนำเข้าสู่การพิจารณารับรองร่วมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทั้งมิติของเศรษฐกิจและสุขภาพ
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยความเป็นสังคมไทยแห่งรอยยิ้มและมิตรไมตรีที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเราจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่มีความยั่งยืน สร้างรายได้เข้าประเทศ ไปพร้อมกับทำให้ผู้คนมีสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร เวทีสมัชชาสุขภาพครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ได้เข้ามาร่วมกันสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมต่อเรื่องนี้ เพื่อยกระดับให้เป็นนโยบายสาธารณะของประเทศต่อไป” นพ.สุเทพ กล่าว
นางเสาวภา จงกิตติพงศ์ คณะทำงานพัฒนาประเด็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ฯ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ย่อมส่งผลกระทบต่อเจ้าของพื้นที่ หรือคนในชุมชนนั้นๆ การสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนของชุมชน กับการส่งมอบบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นที่มาของการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ทุกคนจะต้องมีส่วนเข้ามาร่วมมือกัน
นางเสาวภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะทำงานได้มีการศึกษาและประชุมร่วมกันหลายครั้ง เพื่อพัฒนาเอกสารให้ได้ออกมาเป็นร่างมติที่มีความรอบด้าน บนกรอบทิศทางนโยบายที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญการท่องเที่ยวที่ยังยืน โดยร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้ทุกพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า มุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อันจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำหรับคนทุกกลุ่ม ทั้งในประเทศและในระดับโลก
สำหรับสาระสำคัญของการดำเนินการตามมตินี้ ประกอบด้วย 1. พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน 2. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ และภูมิปัญญาด้านสุขภาพ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน 3. สร้างเสริมความตระหนัก ความรับผิดชอบ และความรอบรู้ด้านสุขภาวะของนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน 4. กำหนดให้มีมาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน 5. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้อจำกัดของกฎหมาย นโยบายและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแนวใหม่