ศธ. ส่งกำลังลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฟื้นฟูแม่สายหลังอุทกภัยใหญ่ แสดงพลังเยาวชน “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย น้ำท่วมสูงไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผู้คนต้องรีบอพยพหนีตายกลางดึก ท่ามกลางความมืดและความโกลาหล หลายครอบครัวถูกตัดขาดจากแหล่งอาหารและน้ำสะอาด บ้านเรือนพังเสียหาย ถนนถูกน้ำพัดขาดหลายช่วง เกิดความเสียหายรุนแรงใน 9 อำเภอ โดยมี 53,209 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ บ้านเรือน โรงเรียน ถนน และสะพานถูกทำลายอย่างมาก โดยเฉพาะในอำเภอแม่สายที่มีโรงเรียน 8 แห่งได้รับความเสียหายหนัก สาเหตุมาจากฝนตกหนักและแม่น้ำสายล้นตลิ่งจนทำให้เกิดดินถล่ม

หลังน้ำลด ภาพที่หลงเหลือคือโคลนมหาศาล บางจุดสูงราวกับภูเขา การทำความสะอาดเพื่อฟื้นฟูเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนหลายแห่งที่ถูกน้ำท่วมเสียหายจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุด นักเรียนไม่สามารถกลับมาเรียนได้ จนกว่าจะทำความสะอาดและซ่อมแซมเสร็จสมบูรณ์

การฟื้นฟูหลังภัยพิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเยาวชนก็คือหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูสังคมหลังภัยพิบัติ กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคาราวาน “Fix it Center” เข้าไปในพื้นที่เพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมถึงซ่อมเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงเรียนและชุมชน และในสัปดาห์ต่อมา วันที่ 13-14 ตุลาคม 2567 สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “ลูกเสือ เนตรนารีบำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาหลังภัยพิบัติ” ที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด

โครงการนี้ออกแบบให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามแนวทางของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยให้พร้อมสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการพัฒนาการเรียนรู้ที่สามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเสริมทักษะทางปัญญาแล้ว ยังพัฒนาให้เยาวชนมีจิตสำนึกต่อสังคมผ่านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่ง

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำว่าหัวใจของโครงการนี้อยู่ที่การให้ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัย เพราะพวกเขาคือพลังสำคัญในการฟื้นฟูชุมชนของตนเอง โดยลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดจะเป็นผู้ช่วยเหลือในการฟื้นฟูสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน วัด หรือสถานที่ที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงการฟื้นฟูบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งยังเสริมสร้างกำลังใจให้กับชาวบ้านในการสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่

“การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ลงมือทำและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการฟื้นฟู ไม่เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชน แต่ยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการเสียสละและช่วยเหลือผู้อื่น”

ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยซ่อมแซมบ้านเรือน การสร้างแหล่งพักพิงชั่วคราว หรือแม้แต่การฟื้นฟูอาชีพชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพื่อให้ชุมชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เริ่มจากวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567 คณะของสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ร่วมกับบุคลากรลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด แบ่งทีมงานทำความสะอาดโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อย่างเต็มที่

โดยเฉพาะการล้างโคลนซึ่งเป็นงานใหญ่ ต้องใช้เวลาและกำลังคนจำนวนมาก เด็ก ๆ จากหลายโรงเรียนทั้งใน อ.แม่สายและใกล้เคียงจึงได้มีโอกาสรวมพลังทำงานไปด้วยกัน ร้อนด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน หิวด้วยกัน แต่เมื่อเสร็จงานในวันนี้แล้ว พวกเขากลับเต็มไปด้วยรอยยิ้มที่สามารถทำงานได้คืบหน้าอย่างมาก ที่สำคัญพวกเขาได้สร้างมิตรภาพใหม่ขึ้นกับเพื่อน ๆ จากโรงเรียนอื่น ทำให้เราเห็นว่าวิกฤตจากภัยพิบัติครั้งนี้ แฝงไปด้วยโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตจริงของคนทุกกลุ่มทุกวัยได้ด้วย

เอกนรินทร์ หลวงเพชร์ชัย ลูกเสือชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านผาฮี้ บอกว่า “ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าการมาช่วยกันล้างโคลนจะสนุกขนาดนี้ครับ แต่พอได้ทำกับเพื่อนๆ แล้ว ผมรู้สึกสนุกมาก ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยบ้าง แต่ผมก็รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยกันทำให้โรงเรียนสะอาดขึ้น ตอนช่วงพักพวกเราได้แจกน้ำดื่มให้เพื่อน ๆ ด้วย ได้เจอเพื่อนใหม่จากโรงเรียนอื่นซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าการมาช่วยกันในโครงการนี้ดีกว่าการเล่นเกมมือถือที่บ้านอีกครับ เพราะผมได้ทำอะไรที่มีประโยชน์และได้เพื่อนใหม่ด้วยครับ”

การลงพื้นที่ของลูกเสือ เนตรนารีเพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเรือนและสร้างแหล่งพักพิงให้กับผู้ประสบภัยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำปฏิญาณที่ว่า “ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” การเสียสละเวลาและแรงงานส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของชุมชน ถือเป็นการฝึกฝนให้เยาวชนเป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในเวลาที่คนรอบข้างต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2567 ปฏิบัติการฟื้นฟูและเยียวยาหลังภัยพิบัติ ที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 เริ่มกันตั้งแต่ช่วงเช้า โดยวันนี้มีทั้งลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดชุดเดิมมาทำงาน และมีบางชุดสับเปลี่ยนกันมาด้วย ทำให้ทุกงาน ทุกกิจกรรมมีความหลากหลาย แปลกใหม่ ซึ่งเด็ก ๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้มาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นร่วมกับเพื่อน ๆ มากมาย มันทำให้มีความสุข ซึ่งเห็นได้ชัดว่า นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

“หนูรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากค่ะที่โรงเรียนของหนูไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ซึ่งได้รับความเสียหายหนักมาก หนูเลยอยากช่วยเพื่อน ๆ ที่นั่นให้กลับมาเรียนได้ทันเปิดเทอม พอหนูได้มาช่วยแล้วหนูรู้สึกดีใจ และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูโรงเรียน หนูหวังว่าเพื่อน ๆ จะมีโรงเรียนที่พร้อมสำหรับการเรียนอีกครั้งค่ะ” เป็นคำบอกเล่าของพิมนภา ทาคำมา นักเรียน ม.2 โรงเรียนวัดถ้ำปลาวิทยาคม

วีรพร สุยา ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลแม่สาย (สายศิลปศาสตร์) และเป็นลูกเสือจิตอาสา เล่าให้ฟังถึงความหมายและคุณค่าของการเป็นลูกเสือจิตอาสาอย่างเต็มใจว่า “ลูกเสือทุกคนมีโอกาสทำความดีอยู่เสมอ และไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งหรือการจัดการใด ๆ ลูกเสือสามารถทำดี ทำได้ ทำทันที ซึ่งหมายความว่าเราต้องพร้อมทำทันทีในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ตาม การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่ลูกเสือต้องมุ่งมั่นทำด้วยใจค่ะ”

โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 เช่น การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกันเป็นทีม และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะเหล่านี้ในสถานการณ์จริงจะช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นคนเก่งที่มีความพร้อมในการใช้ชีวิตและทำงานในอนาคต ความสามารถในการช่วยเหลือชุมชนของลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดจึงไม่เพียงแค่เสริมสร้างศักยภาพของตนเอง แต่ยังส่งผลดีต่อสังคมและประเทศชาติในระยะยาว

นายอำนาจ สายฉลาด ผู้อำนวยการสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน กล่าวว่า ภารกิจของสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน นอกจากพวกเราที่มาจากส่วนกลางแล้ว ก็ยังมีกำลังลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ในจังหวัดเชียงรายมาร่วมงานด้วย ตลอดจนเครือข่ายของเราทั้งจากชลบุรี พะเยา มาช่วยกันล้างโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ซึ่งจะสลับกันเข้ามาทำงานในพื้นที่วันละ 300 คน โดยจะแบ่งกำลังออกเป็น 6 จุดต่อเนื่องจากภารกิจเมื่อวานนี้ เช่น ห้องพละศึกษา มีกลุ่มเด็กเรียนประมาณ 40 คน หรือบริเวณด้านหลังอาคารที่มีโคลนเลนอีกจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้เราก็ได้พี่น้องจากอำเภอแม่ฟ้าหลวงมาช่วย ซึ่งมีความคืบหน้ามาก ส่วนวันนี้เป้าหมายของเราคือทำให้เสร็จทุกจุด จากนั้นจะได้นำเสนอภาพรวมทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการทำความสะอาดต่อไป

“วัตถุประสงค์หลักที่นำเด็ก เยาวชนเข้ามาร่วมงานนี้เบื้องต้นคือ เป็นอุดมการณ์ทางการลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ซึ่งเราให้เด็กปฏิญาณตนว่า ข้าฯ จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ข้าฯ จะช่วยเหลือทุกเมื่อ เราต้องการเปลี่ยนจากคำพูดลงสู่การปฏิบัติ จึงเป็นโอกาสดีที่ลูกหลานเราลงมือทำงานจิตอาสา ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ได้ตั้งกองกำลังจิตอาสาทั้งในภาคประชาชน จิตอาสาพระราชทาน และลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาเด็กไทยยุคใหม่ให้เป็นคนที่มีความสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นคนที่มีจิตอาสาตามอุดมการณ์ของลูกเสือ” นายอำนาจ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากคำชื่นชมและส่งกำลังใจมาให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกคน ตลอดจนห่วงใยผู้ปกครองของเด็ก ๆ เกรงว่าการใส่ชุดลูกเสือมาทำงานอาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเดือดร้อนในการทำความสะอาดชุดเครื่องแบบ วันนี้จึงใช้เป็นชุดลำลองแทน รวมถึงนายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ก็ให้กำลังใจและสนับสนุนสิ่งของจำเป็นมาตลอด และขอเน้นย้ำว่าหากมีเพียงเฉพาะผู้ปฏิบัติงานนั้นคงไม่สามารถทำงานได้ เราต้องมีผู้บริหารระดับสูง นโยบาย อุดมการณ์ รวมทั้งพี่น้องเครือข่าย ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการลงสู่การปฏิบัติ ให้เด็กได้บำเพ็ญประโยชน์ตามอุดมการณ์ของลูกเสืออย่างชัดเจน

สำหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมนั้น มีการมอบสิ่งของต่าง ๆ ให้โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลืออีก และหากมีพี่น้องประชาชนที่มีน้ำใจอยากร่วมช่วยผู้ประสบภัย เราก็ยินดีเป็นสะพานส่งต่อมาอย่างพี่น้องในพื้นที่ภัยพิบัติ โดยเรามุ่งมั่นร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน นำความสุขกลับมาให้ชาวแม่สายอีกครั้งให้ได้

ผลลัพธ์ของโครงการนี้ไม่ได้วัดเพียงแค่จำนวนทรัพย์สินที่ได้รับการฟื้นฟูหรือจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังวัดจากการสร้างสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรม และจิตอาสาที่เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของเยาวชนในกิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศในระยะยาว

โครงการ “ลูกเสือ เนตรนารีบำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาหลังภัยพิบัติ” จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม ภายใต้การนำของกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนเหล่านี้ได้แสดงถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำในอนาคต ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูชุมชน แต่ยังฟื้นฟูความหวังของคนไทยในการสร้างสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และช่วยเหลือกันอย่างยั่งยืน