ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.25-33.38 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน และการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่ถูกกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นยุโรป ทว่าเงินบาทก็ยังได้แรงหนุนจากการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งได้อานิสงส์จากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 98% ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ธีม AI/Semiconductor หลังล่าสุด ASML เปิดเผยคาดการณ์ยอดขายที่น่าผิดหวัง กดดันให้บรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวลงแรง อาทิ AMD -5.2%, Nvidia -4.7% กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.01% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.76%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงกว่า -0.80% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML -15.6% หลังมีรายงานข่าวว่าผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของ ASML อาจออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell -3.4% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลความเสี่ยงที่อิสราเอลจะโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.04% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าทะลุโซนแนวรับ 1.09 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นยุโรป ทว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัดลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดและจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงและการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายน (รวมถึงแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปีหน้า) ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเราคาดว่า กนง. อาจมีมติ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ทั้งนี้ เราจะจับตามุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะเร็วกว่าที่เราประเมินไว้ว่า กนง. อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

ส่วนทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนกันยายน เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว –36bps ครั้งในปีนี้ สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่มั่นใจว่า BOE จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง หรือ -50bps ในปีนี้

ในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจลดดอกเบี้ยลง -25bps สู่ระดับ 6.00% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ BSP ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย -25bps ในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้มีโอกาสที่ BI จะส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ ตามแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน ส่วนค่าเงินอินโดนีเซียรูเปียะห์ (IDR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่มีจังหวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จน BI ต้องขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีนี้

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นผลการประชุม กนง.

โดยหาก กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่เราประเมินไว้ อีกทั้งไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงโอกาสในการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า (ซึ่งอาจต้องเห็นโทนการสื่อสารของ กนง. ที่มีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น หรือมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจแย่ลงชัดเจน) เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ตามเดิม หรือแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยได้

ในกรณีที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% แต่มีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งหน้าที่ชัดเจนขึ้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ไว้) เงินบาทก็อาจอ่อนค่าลงเล็กน้อยได้ แต่หาก กนง. “เซอร์ไพรส์” ตลาด ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 2.25% พร้อมเปิดโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้พอสมควร โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง จากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก รวมถึงโอกาสที่บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง ในกรณีที่ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของไทยมีความชัดเจน และที่สำคัญ หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.50 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.)