สธ.เผย “เชียงราย” น้ำเอ่อท่วมอีกที่ตลาดสายลมจอย กำชับเฝ้าระวังน้ำป่าหลาก-ดินถล่มร่วมกับ 9 จว.ใต้

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผย ยังมีน้ำท่วม 14 จังหวัด ล่าสุดเช้านี้มีน้ำเอ่อท่วมตลาดสายลมจอย จ.เชียงราย กำชับเฝ้าระวังแผ่นดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก 9 จังหวัดใต้ รวมถึงเชียงราย ภาพรวมดูแลผู้ประสบภัยสะสม 239,415 ราย กลุ่มเปราะบาง 33,830 ราย ส่วนการดูแลสุขภาพจิต จะติดตามต่อเนื่องตั้งแต่ระยะวิกฤตตอนเกิดเหตุ จนถึงระยะฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ 3 เดือน

วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 25/2567 ว่า ขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 14 จังหวัด โดยล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้เวลา 07.28 น. มีน้ำเอ่อเข้าท่วมที่ตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้กำชับให้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนแล้ว ส่วนกรณีผู้สูญหายจากการจมน้ำปิงที่ จ.เชียงใหม่ ได้พบร่างแล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 75 ราย บาดเจ็บสะสม 2,421 ราย ไม่มีผู้สูญหายเพิ่มขึ้น ล่าสุด ได้รับรายงานว่ายังเหลือสถานพยาบาลที่ต้องปิดบริการเพียง 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ภาพรวมตั้งแต่ 17 สิงหาคม – 14 ตุลาคม 2567 จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสะสม 2,419 ทีม ดูแลประชาชนรวม 239,415 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางรวม 33,830 ราย ส่วนการดูแลด้านสุขภาพจิต กรณีประเมินพบว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตจะให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น หากไม่ดีขึ้นจะส่งต่อพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยการประเมินและติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์ 2.ระยะหลังประสบภาวะวิกฤต คือหลังเกิดเหตุการณ์ 2 สัปดาห์ – 3 เดือน และ 3.ระยะฟื้นฟู คือหลังเกิดเหตุการณ์ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งจากดำเนินการของเขตสุขภาพที่ 1 พื้นที่ภาคเหนือ ในผู้มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 17 ราย ที่ติดตามได้ 13 ราย พบว่าหลังติดตามดูแลต่อเนื่องมีความเสี่ยง ฆ่าตัวตายลดลง 11 ราย และยังมีความเสี่ยง 2 ราย

ทั้งนี้ ให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งสงขลา มีการเตือนภัยระดับเตรียมพร้อม 4 หมู่บ้าน และยะลา เตือนภัยระดับวิกฤต 2 หมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการเตือนภัยระดับเฝ้าระวังที่ เชียงราย 2 หมู่บ้านด้วย ส่วนพื้นที่น้ำท่วมขัง มี 8 จังหวัดเสี่ยงสูงสุด คือ พิษณุโลก อ.บางระกำ, พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล, สุราษฎร์ธานี อ.พระแสง, สมุทรปราการ อ.พระประแดง, อุดรธานี อ.เพ็ญ, นครปฐม อ.บางเลน, นครพนม อ.นาทม และขอนแก่น อ.หนองเรือ โดยขอให้เตรียมทีมบุคลากร ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อออกช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ประสบภัยและกลุ่มเปราะบาง ได้ทันที