30 วันแรก ปฏิรูปอุตสาหกรรม“ รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ทำอะไร!!

15 ตุลาคม 2567 – นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้เผยผลดำเนินงานใน 30 วัน (11 กันยายน – 10 ตุลาคม 2567) ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่“ ซึ่งได้เดินหน้าทำทันทีตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในวันแรก

สำหรับการปฏิรูปที่ 1 ”การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน” เดินหน้ายกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 198/2567 ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2567) ศึกษากฎหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เกี่ยวข้องทั้งหมด เร่งยกร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบูรณาการภารกิจด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นกฎหมายเฉพาะแยกออกมาจากกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และเพิ่มภารกิจด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งดำเนินการจัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อรวมกองทุนทั้งหมดและจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยรวมภารกิจทั้งหมดเป็นกฎหมายฉบับเดียว นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ บรรเทาปัญหาสารเคมีรั่วไหล” เพื่อขอบคุณและมอบใบประกาศเกียรติคุณให้ผู้ประกอบการกว่า 58 ราย ที่สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการระงับเหตุและบรรเทาปัญหาสารเคมีรั่วไหล

การปฏิรูปที่ 2 “การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย” โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” ซึ่งมีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเรื่องแรก คือ การผลักดันตั้งนิคมอุตสาหกรรม SME ได้มอบหมาย กนอ. เข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม SME ไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย จัดพื้นที่และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในนิคมฯ ให้แก่ธุรกิจ SME การลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้าง Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรม โดย กนอ. ได้เตรียมจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SME (I-EA-T Incubation) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน โดยใช้นิคมฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ SME เบื้องต้น จะเริ่มดำเนินการและพร้อมเปิดที่นิคมฯ ลาดกระบัง ภายในสิ้นปี 67 2) และสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ของ อก. ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน 3) การพักชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน ให้ SME และยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคเหนือ 4) จัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะด้านการบริหารจัดการในทุกมิติผ่านกระบวนการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สู่การพัฒนาศักยภาพให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 5) ป้องกันการแข่งขันและนำเข้าสินค้าผ่าน E-Commerce ทะลักเข้าไทยไม่ได้มาตรฐาน โดย สมอ. ร่วมกับ กรมศุลกากร เปิด “ศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า” หรือ EXEMPT 5 เมื่อ 1 ต.ค.67 พร้อมกำหนดแนวทางการป้องกันสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

การปฏิรูปที่ 3 “การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยการปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เรื่องแรก คือ การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ที่มากที่สุดกับระบบ การสนับสนุนเงินช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี โดยให้ สอน. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง พร้อมวางแนวทางส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล ยกระดับผลผลิตอ้อยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ 2) การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และระดับที่ 5 ในปี 66-67 จำนวน 325 ราย เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่าย สีเขียว (Green Network) จำนวน 36 ราย และอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 289 ราย เพิ่มโอกาสและส่งเสริมสถานประกอบการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยในการประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม และชุมชนที่อยู่โดยรอบอย่างยั่งยืน 3) ร่วมวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในงาน “ECO Innovation Forum 2024” ชู “Now Thailand” ดันเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม 4) หนุนเหมืองเก่า“อุทยานหินเขางู” ปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คืนกำไรสู่ท้องถิ่นตามหลัก BCG และยกระดับอุตสาหกรรมนำอัตลักษณ์เชิงพื้นที่สู่สากล 5) สนับสนุนศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ด้วยระบบ AI

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ยังเดินหน้าทำความดีด้วยหัวใจ จัดกิจกรรมจิตอาสา “กระทรวงอุตสาหกรรมปลูกป่าชายเลน เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน” โดยปลูกป่าชายเลน จำนวน 77,100 ต้น ในพื้นที่ 100 ไร่ คาดว่าป่าชายเลนช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง นำคณะข้าราชการ อก. ร่วมกันประกอบท่อประปาหมู่บ้านทดแทนท่อเดิมที่ถูกดินสไลด์ บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นกำลังใจกับพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการ ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตแบบปกติได้โดยเร็ว

“จากวันแรกถึงวันนี้ เราทำงานไม่เคยหยุด รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ เคยกล่าวไว้ “จะทำทันที จะทำทุกวินาที” พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เพียงวาทกรรม แต่เรา อก. ได้ทำให้ 2,592,000 วินาทีใน 30 วัน เห็นเป็นรูปธรรมและรายงานให้พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการไทยได้รับทราบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพราะ “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” เริ่มที่การปฏิรูปรูปแบบการทำงานที่ต้องมีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลได้ และที่สำคัญที่สุด คือ การมีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยทุกท่านสามารถติดตามการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถให้ข้อคิดเห็นหรือแจ้งข้อร้องเรียนมายังกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทุกช่องทาง เพื่อให้เรามาร่วมปฏิรูปอุตสาหกรรมไปด้วยกัน” โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย