สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ต.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ : จ.ภูเก็ต (111) ภาคกลาง : ชัยนาท (76) ภาคเหนือ : จ.สุโขทัย (72) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (69) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (49) และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (46)

สภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ :.ช่วงวันที่ 16–19 ต.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 79% ของความจุเก็บกัก (63,733 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 68% (39,542 ล้าน ลบ.ม.)

3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :

3.1 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 13–17 ต.ค. 67 เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก และร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขัง เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

3.2 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13–24 ต.ค. 67 ด้วยอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม

4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยดินถล่มจังหวัดลำพูน เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดลำพูน ปัจจุบันตำบลหนองช้างคืน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงสามารถระบายน้ำจากเหมืองกู่แดง เหมืองสองร้อย ลงสู่ระบบเหมืองแม่ปิงเก่าได้ดี บ้านป่าขาม บ้านหลุก เหมืองง่า ระดับน้ำลดลง เหมืองหลิ่งห้า ระบายน้ำลงสู่เหมืองปิงห่าง ไหลได้คล่องตัว โดยได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำในพื้นที่ ตำบลต้นธง แหล่งรวมน้ำสุดท้ายก่อนลงแม่น้ำปิงโดย ปัจจุบันน้ำที่ท่วมขังอยู่เกิดการเน่าเสีย บางจุดเป็นแอ่งกระทะ ไม่มีที่ระบายออก หรือไหลออกได้ช้า โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการและประสานงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขโดยเร่งด่วนต่อไป

5. สถานการณ์อุทกภัย: วันที่ 14 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.ลำปาง (อ.แม่พริก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ วังทอง พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย กงไกรลาศ คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม และสวรรคโลก) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) จ.ชัยนาท (อ.เมืองฯ มโนรมย์ วัดสิงห์ และสรรพยา) จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ พรหมบุรี และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ เดิมบางนางบวช สามชุก บางปลาม้า ศรีประจันต์ สองพี่น้อง อู่ทอง และดอนเจดีย์) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี บางเลน และกำแพงแสน) จังหวัดที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟู 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) และ จ.เชียงใหม่ (อ.สารภี)