กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำ 7 สมุนไพร ป้องกันยุงกัด พร้อมเผยเคล็ดลับ วิธีทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง ช่วงฤดูฝน

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 7 สมุนไพร ป้องกันยุงกัด ได้แก่ ตะไคร้หอม โหรพา แมงลัก ยี่หร่า มะกรูด ข่า และกานพลู พร้อมเผยเคล็ดลับ วิธีทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง ใช้ติดบ้านติดตัว เพื่อป้องกันยุง ในช่วงฤดูฝน

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงนี้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยมีปริมาณฝนตกชุก และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำ 7 สมุนไพรในครัวเรือน ป้องกันยุงกัด ได้แก่ ตะไคร้หอม โหรพา แมงลัก ยี่หร่า มะกรูด ข่า และกานพลู สำหรับ วิธีการทำตามวิถีภูมิปัญญาไทย ให้นำสมุนไพรที่กล่าวข้างต้น อย่างใดอย่างหนึ่งมาทุบหรือขยี้ๆ หรือ นำสมุนไพรมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ บรรจุใส่ถุงตาข่ายเพื่อทำเป็นถุงหอมแล้วนำไปวางหรือแขวนไว้บริเวณมุมอับที่ยุงชุกชุม ก็จะสามารถช่วยไล่ยุงได้ เพราะสมุนไพรดังกล่าว มีสารสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย ที่มีกลิ่นเฉพาะและเป็นกลิ่นที่ยุงไม่ชอบ

นอกจากสมุนไพรข้างต้นที่จะช่วยกันยุง สิ่งที่ควรปฏิบัติในช่วงฤดูฝน ควรจัดบริเวณบ้านให้ปลอดโปร่ง ภาชนะ ที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง เช่น ที่รองตู้กับข้าว ถาดรองกระถางต้นไม้ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ที่สำคัญเวลานอน ควรกางมุ้งหรือทาโลชั่นกันยุงก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดและป้องกันโรคที่จะมากับยุง ในช่วงฤดูฝนนี้

ทางด้าน นายสมศักดิ์ กรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า อีกหนึ่งเคล็ดลับ ที่อยากแนะนำให้ประชาชนสามารถทำไว้ใช้เอง เอาไว้ใช้ติดบ้านติดตัว เพื่อใช้ไล่ยุง คือ สเปรย์ตะไคร้หอม สำหรับวิธีการทำ มีส่วนประกอบดังนี้ 1.หั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 200 กรัม 2.หั่นผิวมะกรูดเล็กๆประมาณ 50 กรัม 3.นำตะไคร้หอมและ ผิวมะกรูดที่หั่น ห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วใส่ลงในโหลแก้ว 4.นำแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์) 1 ลิตร เทใส่โหลแก้ว 5.ใส่การบูร 10 กรัม ปิดฝาให้แน่นหมักไว้ 7 วัน ระหว่างที่หมักต้องเขย่า โหลแก้วทุกวัน พอครบกำหนดก็นำมาบรรจุขวด อาจใช้ขวดฝาเกลียวธรรมดาก็ได้ เขียนติดข้างขวดไว้ว่าสเปรย์สมุนไพรไล่ยุงเพื่อความปลอดภัย วิธีใช้ให้ฉีดบริเวณต่างๆ และสามารถใช้ฉีดไล่มด แมลงสาบ แมลงวัน และแมลงที่ไม่ต้องการบริเวณที่อยู่อาศัย รวมถึงใช้ฉีดดับกลิ่นเหม็น กลิ่นอับ ได้อีกด้วย

 

หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM