อภ.หารือพัฒนายาต้านไวรัสเอชไอวี Lenacapavir หลังเจ้าของประกาศ VL (Voluntary Licensing) ช่วยเพิ่มการเข้าถึงยาของคนไทย

ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม นำทีม GPO ร่วมประชุมอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจรที่ “อิตาลี” หารือความร่วมมือกับบริษัท Mylan สำหรับยาต้านไวรัสเอชไอวี “Lenacapavir” หลังไทยเป็น 1 ใน 18 ประเทศ ที่สามารถซื้อยากับ 6 บริษัทยาชื่อสามัญที่ได้รับอนุญาตใช้สิทธิบัตรบัตรโดยสมัครใจ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของคนไทย เผยประสิทธิภาพป้องกันสูง ออกฤทธิ์ยาวนานถึง 6 เดือน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้แนวคิด GPO MOVE เพิ่มคุณค่าธุรกิจด้านสุขภาพ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรและขยายรูปแบบธุรกิจองค์กรตามแนวโน้มของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนพร้อมคณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ได้เข้าร่วมการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจร (CPHI) ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งเป็นงานที่เน้นด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าที่มีศักยภาพในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในงานนี้ องค์การเภสัชกรรมได้มีการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับบริษัท Mylan  เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา Lenacapavir สำหรับคนไทย หลังจากเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 บริษัท Gilead ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาดังกล่าวได้ประกาศใช้ Voluntary License หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรด้วยความสมัครใจ โดยทำสัญญากับบริษัทยาชื่อสามัญ 6 บริษัท ได้แก่ Dr. Reddy’s Laboratories Limited, Emcure, Eva Pharma, Ferozsons Laboratories Limited, Hetero และ Mylan และมี 18 ประเทศที่สามารถซื้อยาจากบริษัทยาชื่อสามัญในสัญญานี้ได้ ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตีนี, เอธิโอเปีย, เคนยา, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิค, นามิเบีย, ไนจีเรีย, ฟิลิปปินส์, รวันดา, แอฟริกาใต้, แทนซาเนีย, ยูกันดา, เวียดนาม, แซมเบีย, ซิมบับเว และไทย

ทั้งนี้ ยา Lenacapavir เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์นาน มีทั้งรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีตัวอื่นๆ ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์สำหรับผู้ป่วยที่ดื้อยา จากการศึกษาทางคลินิกพบว่ามีประสิทธิภาพดีเมื่อใช้ในการป้องกัน (PrEP, Pre-exposure prophylaxis) โดยที่รูปแบบยาฉีด จะฉีดเพียงปีละ 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน และรูปแบบยารับประทาน จะกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งอภ.จะเริ่มพัฒนาในรูปแบบยารับประทานก่อน