11 ตุลาคม 2567 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา โดยนายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกาาศึกษาเอกชน คณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ ZOOM
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้เป็นที่กระทบกระเทือนจิตใจคนไทยทั้งประเทศ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ย้ำชัดว่าต้องเป็นกรณีสุดท้ายจึงได้ตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา เพื่อเร่งดำเนินการในมาตรการและขยายผลโดยเริ่มจากประเด็นเร่งด่วนที่สังคมให้ความสนใจก่อน ไม่ใช่เฉพาะรถบัสทัศนศึกษาเท่านั้นแต่ต้องดูภาพรวมแผนเผชิญเหตุตามสถานศึกษาควบคู่กับสำนึกเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหลังจากประกาศกระทรวงเรื่องงดทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็น มีหลายหน่วยงานสับสนเรื่องการปฏิบัติ รวมถึงผู้บริหารสานศึกษาและผู้ปกครองเกิดความไม่สบายใจที่จะให้ผู้เรียนเดินทางไปทัศนศึกษา
จากเหตุการณ์สูญเสียในครั้งนี้ แน่นอนว่าเกิดผลกระทบตามมาหลายด้านทั้งเรื่องถูกขอยกเลิกทริป โรงเรียนถูกยึดเงินมัดจำ จนเกิดกระบวนการตรวจสอบตามมา ซึ่ง รมว.ศธ.ต้องการให้ภาพรวมการตั้งคณะทำงานชุดนี้เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญในส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อคิดเห็นในส่วนของระบียบการเดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ แผนปฏิบัติการ รวมถึงกิจกรรมที่ต้องเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ควรเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้น กำหนดช่วงอายุของผู้ไปทัศนศึกษา การตรวจสภาพรถ ความพร้อมของพนักงานประจำรถ พลังงานเชื้อเพลิงที่เลือกใช้ และอีกหลายด้านที่ต้องพิจารณาอยางละเอียดร่วมกัน และดูแนวทางการจัดการของต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น โซนยุโรป และโซนอเมริกา เพื่อขยายขอบเขตมาตรฐานความปลอดภัยของผู้เรียน
ขอบคุณข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายที่เปิดกรอบความคิดร่วมกันในวันนี้ สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการปรับปรุงข้อกำหนดในระเบียบให้เหมาะสม และแนวทางพัฒนานอกเหนือจากประกาศให้มีความปลอดภัยเข้มข้น สุดท้ายนี้ฝากทบทวนประเด็นในวิชาลูกเสือเรื่องสำนึกความปลอดภัยเพราะเป็นวิชาบังคับที่เด็กทุกคนต้องเรียน การปรับหลักสูตรให้ทันสมัยในวิชาการเอาตัวรอด พร้อมเพิ่มคู่มือการเดินทางแต่ละฤดูเพื่อเลี่ยงพื้นที่สุ่มเสี่ยง สร้างแนวทางที่ชัดเจนให้เห็นผลระดับความปลอดภัยภายในปีนี้
“ความผิดพลาดมักเกิดจากความเคยชิน แต่ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องบ่อย ๆ จนคุ้นเคย จะกลายเป็นสำนึกความปลอดภัยที่มีติดตัวเด็ก GEN ใหม่ทุกคน” นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าว
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในการพาผู้เรียนออกไปทัศนศึกษาต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง คือพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ความปลอดภัยของเส้นทาง และสำนึกและความรับผิดชอบ ขอยืนยันว่าทัศนศึกษายังจำเป็นเพราะเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เรียนได้อย่างมหาศาล แต่ต้องปิดช่องว่าความเสี่ยงและสร้างสำนึกและความรับผิดชอบต่อความปลอดภัย นำอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นมาปรับเป็นหมวดวิชาเอาตัวรอด ฝึกปฏิบัติจนเกิดเป็นสัญญาณโดยอัตโนมัติและใช้โซเชียลมีเดียสร้าง Safety Sense ในสังคม หากสร้างแนวร่วมของ “ผู้ปกครองจิตอาสา” ได้สำเร็จ จะเกิดเป็นทัศนศึกษาที่สร้างการเรียนรู้บนความปลอดภัย
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมเทียบกับระเบียบปัจจุบันและมาตรการทัศนศึกษาของต่างประเทศ รวมถึงมิติความปลอดภัยของผู้เรียนเรื่องอื่น จัดทำเป็นร่างประกาศใหม่และแนวทางการปฏิบัตินำเสนอในที่ประชุมคณะทำงานกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษาในครั้งถัดไป ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 น.