1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ : จ.สุราษฎร์ธานี (97) ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (81) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (76) ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (67) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (49) และภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (49)
สภาพอากาศวันนี้ : ลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 12-16 ต.ค. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนยังคงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 78% ของความจุเก็บกัก (63,186 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 66% (38,993 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :
3.1. สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 9–12 ต.ค. 67 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ต้องเฝ้าระวัง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง บริเวณ จ.ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
3.2. สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13–24 ต.ค. 67 ด้วยอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ 10 ต.ค. 67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 กำชับหน่วยงานเร่งดำเนินการ ดังนี้
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือกำจัดดินโคลนที่ค้างอยู่ในบ้านเรือนของผู้ประสบอุทกภัย กรณีบ้านเรือนที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ จะได้รับเงินชดเชยค่าช่วยล้างดินโคลนในที่อยู่อาศัยประชาชนซึ่งประสบอุทกภัยในอัตรา 10,000 บาทต่อหลัง
2. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัด เร่งสำรวจและจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็ว
3. สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยใช้งบประมาณให้เกิดความยั่งยืนกับประชาชน
5. สถานการณ์อุทกภัย: วันที่ 10 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) จ.เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ หางดง สารภี และสันป่าตอง) จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.ลำปาง (อ.แม่พริก) จ.ตาก (อ.สามเงา และบ้านตาก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ วังทอง พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย กงไกรลาศ คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม และสวรรคโลก) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ และสร้างคอม) จ.ชัยนาท (อ.เมืองฯ มโนรมย์ วัดสิงห์ และสรรพยา) จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ พรหมบุรี และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ เดิมบางนางบวช สามชุก ศรีประจันต์ บางปลาม้า สองพี่น้อง อู่ทอง และดอนเจดีย์) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี กำแพงแสน และสามพราน)