1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (102 มม.) ภาคใต้ : จ.ตรัง (83 มม.) ภาคเหนือ : จ.แม่ฮ่องสอน (77 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (74 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (70 มม.) ภาคตะวันออก : จ.สระแก้ว (65 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 10 – 14 ต.ค. 67 ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และอ่าวไทย รวมทั้งร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 78% ของความจุเก็บกัก (62,728 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 66% (38,538 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13 – 24 ตุลาคม 2567เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมประเด็นด้านน้ำในเรื่องต่างๆ อาทิ การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน นโยบายด้านทรัพยากรน้ำ การป้องกันภัยพิบัติและระบบเตือนภัยล่วงหน้า การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 9 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) จ.เชียงใหม่ (อ.แม่วาง ดอยหล่อ หางดง สันป่าตอง แม่แตง เมืองฯ และสารภี) จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.ลำปาง (อ.เถิน) จ.ตาก (อ.สามเงา และบ้านตาก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ วังทอง พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย และสวรรคโลก) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ และสร้างคอม) จ.กาฬสินธุ์ (อ.ยางตลาด หนองกุงศรี ท่าคันโท สหัสขันธ์ และ ฆ้องชัย) จ.ชัยภูมิ (อ.คอนสวรรค์ ซับใหญ่ และจัตุรัส) จ.มหาสารคาม (อ.เมืองฯ และกันทรวิชัย) จ.อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ และสว่างวีระวงศ์) จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ พรหมบุรี และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ เดิมบางนางบวช บางปลาม้า สองพี่น้อง ศรีประจันต์ และสามชุก) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาลบางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร) จ.ปทุมธานี(อ.สามโคก เมืองฯ) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี และสามพราน)