หอภาพยนตร์เปิดตัวนิทรรศการถาวรชุดใหม่ โรงถ่าย 3 พาผู้ชมเข้าสู่โลกเบื้องหลังงานสร้างภาพยนตร์

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ฉลองก่อตั้งหน่วยงานครบรอบ 40 ปี เปิดตัวนิทรรศการถาวรชุดใหม่ล่าสุด โรงถ่าย 3 นิทรรศการที่จะพาผู้ชมเข้าสู่โลกของการสร้างสรรค์และผลิตงานภาพยนตร์ โดยจัดแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานและคนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ผ่านอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทั้งอนาล็อกและดิจิทัล รวมทั้งเทคโนโลยี interactive เพื่อให้ผู้ชมได้ปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาข้อมูลในนิทรรศการ

หอภาพยนตร์ตั้งหัวข้อเรื่องของนิทรรศการโรงถ่าย 3 นี้ว่า “From Dreams to Reels” โดยได้นำฝันของ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญซึ่งฝันจะสร้างภาพยนตร์ “สงครามชีวิต” จากนิยายเรื่องนี้ของ ศรีบูรพา ที่เชิดบูชาเป็นเทพแห่งการประพันธ์ของเขา แต่ยังมิได้ทำจริง ได้แต่เขียนบทภาพยนตร์ทิ้งไว้ มาทำให้เป็นจริงด้วยการลงมือถ่ายทำตามบทนั้นผ่านฝีมือการกำกับของ สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับร่วมสมัยที่ศรัทธาในสงครามชีวิตและศรีบูรพาเช่นกัน และได้นำกระบวนการถ่ายทำและขั้นตอนผลิตงานทั้งหมดมาสร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ในรูปแบบนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้และเล่นสนุกไปกับงานสร้างภาพยนตร์

นิทรรศการโรงถ่าย 3 จัดแสดง ณ ชั้น 3 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายาเปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.30 น. – 17.30 น. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage หรือ เบอร์โทรศัพท์ 02 482 2013-15

ศิลปะส่องทางให้แก่กัน

ไม่มีใครสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาจากความว่างเปล่าหรือลอย ๆ ด้วยตนเองคนเดียว แต่ล้วนต้องได้รับผลจากการสร้างสรรค์ที่สั่งสมกันมาของคนอื่น ๆ งานศิลปก็เป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งของมนุษย์ จึงมีคำพูดว่า ศิลปะส่องทางให้แก่กัน

กุหลาบ สายประดิษฐ์  (2449 – 2517) นักคิดนักเขียนที่ดีเด่นที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณกรรมไทย ใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” แต่งนิยาย “สงครามชีวิต” โดยได้สร้างตัวลคร ระพินทร์ ยุทธศิลป์ เป็นชายหนุ่มผู้ยากจนและยากไร้ รักกับ เพลิน โรหิตบวร หญิงสาวลูกผู้ดีตกยาก เป็นรักแห่งการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เป็นรักในสงครามชีวิตของทั้งสองศรีบูรพาสร้างให้หนุ่มระพินทร์ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน และเมื่อได้อ่านนิยายเรื่อง Poor People ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (2364 – 2424) นักประพันธ์เรืองนามของรัสเซีย ระพินทร์ก็ชื่นชมบูชาและฝันทะเยอทะยานที่จะเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงเยี่ยงนี้บ้าง เขาเริ่มหัดแต่งนิยายขึ้นจากชีวิตรักของเขากับเพลิน แต่ระพินทร์พ่ายแพ้ในสงครามชีวิต นิยายในฝันของระพินทร์ที่ซ้อนอยู่ในนิยายสงครามชีวิตของศรีบูรพาก็จบลงพร้อมกันอย่างโศกนาฏกรรม

“สงครามชีวิต” กับ “ข้างหลังภาพ” ของ ศรีบูรพา เป็นหนังสือนิยายสองเล่มที่ชายหนุ่มนาม ประเทศ พิชัยสงคราม (2475 – 2549) ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักประพันธ์อีกผู้หนึ่ง ได้ซื้อด้วยเงินที่ได้จากการเขียนหนังสือครั้งแรกในชีวิต เก็บไว้เป็นเครื่องบูชา “ศรีบูรพา” ที่ประเทศนับถือว่าเป็นเทพในการเขียนหนังสือของเขา และประเทศก็ประสบความสำเร็จเป็นนักประพันธ์ผู้ใช้นามปากกาว่า “ธม ธาตรี” มีชื่อเสียงในโลกวรรณกรรมไทย แต่ประเทศ ผู้ตั้งชื่อตนเองใหม่ว่า เชิด ทรงศรี ยังได้ก้าวต่อจากโลกวรรณกรรมไปสู่โลกภาพยนตร์ด้วย เป็นผู้สร้างผู้เขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์มีชื่อเสียงในนาม เชิด ทรงศรี มีผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นหลายเรื่องในโลกภาพยนตร์ไทย

เชิด ทรงศรี ไม่เคยลืมเทพผู้สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของเขา และปรารถนาที่จะนำผลงานที่เขาบูชามาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์  เชิด ทรงศรี ใช้นามปากกา ธม ธาตรี เขียนบทภาพยนตร์ สงครามชีวิต ขึ้นในปี 2541 แต่เพราะเป็นนิยายที่ท้าทายกันว่าไม่น่าจะสร้างเป็นภาพยนตร์ได้   เพราะทั้งเรื่องเป็นคู่รักเขียนจกหมายตอบโต้กันเท่านั้น เขาจึงส่งบทไปให้ผู้เชี่ยวชาญการตลาดหนังไทยช่วยพิจารณาว่าควรสร้างได้ไหมคำตอบที่ได้รับคือไม่ควรสร้างเชิดจึงระงับโครงการนี้ไว้ก่อน แต่ได้ตัดสินใจนำข้างหลังภาพซึ่งเขาเคยถือสิทธิ์และยินยอมให้เปี๊ยกโปสเตอร์ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี 2528 มาสร้างเอกใหม่ ออกฉายเมื่อ 2544 เป็นงานศิลปภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวรรณศิลปได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ภาพยนตร์ไม่ได้รับความสำเร็จด้านการตลาด และกลายเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิต เมื่อเชิด ทรงศรี เสียชีวิตในปี 2549 ปีแห่งวาระกาลครบ 1oo ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ และบทภาพยนตร์สงครามชีวติชีวิตขอเชิดทรงศรี จึงถูกเก็บงำเงียบตั้งแต่นั้นมาภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิตของเชิด ทรงศรี จึงคือ “ข้างหลังภาพ” ที่เขาบูชาเทพแห่งแรงดลใจในการเป็นนักประพันธ์ของเขา และทิ้งบทภาพยนตร์ “สงครามชีวิต” ไว้เป็นความฝันที่จะบูชา “ศรีบูรพา” อีกเรื่องหนึ่งเป็นมรดกแก่หอภาพยนตร์

เมื่อหอภาพยนตร์จะจัดทำนิทรรศการถาวรในชื่อ โรงถ่าย 3 และในหัวเรื่อง “From Dream to Reel” จึงเกิดความคิดดลใจให้นำบทภาพยนตร์นี้มาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ “สงครามชีวิต” ในฝันของ เชิด ทรงศรี และเพราะศิลปะส่องทางให้แก่กัน หอภาพยนตร์จึงส่องเห็น “สมเกียรติ์ วิทุรานิช” ผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสมัย ซึ่งศรัทธา “ศรีบูรพา” และรัก “สงครามชีวิต” มากถึงขนาดเป็นแรงดลใจให้เขานำตัวละครระพินทร์และเพลินไปโลดแล่นซ้อนทับอยู่เบื้องหลังตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง “รักที่รอคอย” (2552) ซึ่งเขาเขียนเรื่องเขียนบทและกำกับเอง     หอภาพยนตร์จึงเชิญสมเกียรติ์ มาเป็นผู้สานต่อลงมือทำให้ความฝันของ เชิด ทรงศรี ในบทภาพยนตร์ “สงครามชีวิต” มีชีวิตโลดแล่นขึ้นมาในนิทรรศการนี้

นิทรรศการนี้ทำขึ้นเพื่อให้คนในปัจจุบันได้รู้จักได้เรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งฝันที่จะเห็นสังคมของมนุษย์ปราศจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบกัน ฝันที่จะเห็นสังคมที่มนุษย์เท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีและมีปัญญา หวังว่านิทรรศการนี้จะส่องทางให้ผู้มาชมเห็นคุณค่าของการที่ศิลปินเพียรพยายามสร้างสรรค์งานศิลป จากวรรณกรรมสู่ภาพยนตร์และจากภาพยนตร์กลับสู่วรรณกรรม เพราะ ศิลปะย่อมส่องทางให้แก่กัน