สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ต.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เพชรบูรณ์ (36 มม.) ภาคกลาง : จ.สมุทรสงคราม (107 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สุรินทร์ (2 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (26 มม.) ภาคตะวันตก : จ.เพชรบุรี (90 มม.) และ ภาคใต้ : จ.พังงา (108 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ :. ช่วงวันที่ 8 – 12 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 77% ของความจุเก็บกัก (61,070 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 65% (37,882 ล้าน ลบ.ม.)

3. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (6 ต.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยม – น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ จ.นครสวรรค์ สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และเดินทางไปยังบริเวณคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา (วัดทุ่ง) หมู่ 2 ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.จระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาด้วยอัตรา 2,200 ลบ.ม./วินาที

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับมวลน้ำของแต่ละจังหวัด เพื่อบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกันทั้งลุ่มน้ำ ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมชลประทาน จะมีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเขื่อน โดยจะรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนไม่เกิน +17.2 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง และระบายน้ำท้ายเขื่อนในอัตราไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที และได้แจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบ ยกของขึ้นสูงการระบายน้ำในอัตรา 2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทรัพย์สิน สำหรับปัจจุบันบึงบอระเพ็ดได้ช่วยเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ลดปริมาณน้ำที่จะไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา สทนช. ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำบึงบอระเพ็ดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจ.นครสวรรค์ โดยเปิดให้น้ำไหลเข้าบึงในช่วงหลังวันที่ 15 ก.ย. 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ ทั้งนี้ได้มีการหารือกับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เพื่อตกลงร่วมกัน ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าสู่บึงบอระเพ็ดแล้ว จำนวน 290 ล้าน ลบ.ม. และยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 80 – 90 ล้าน ลบ.ม.

4. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 6 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) จ.เชียงใหม่ (อ.เมืองเชียงใหม่ แม่ริม ดอยหล่อ หางดง สันป่าตอง แม่แตง และ อ.สารภี)จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ และป่าซาง) จ.ลำปาง (อ.เมืองฯ แม่พริก และเถิน) จ.ตาก (อ.สามเงา และบ้านตาก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ พรหมพิรามบางระกำ บางกระทุ่ม วังทอง และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง และสวรรคโลก) จ.เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ น้ำหนาว และหนองไผ่) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ และสร้างคอม) จ.ชัยภูมิ (อ.คอนสวรรค์ และจัตุรัส) จ.กาฬสินธุ์ (อ.ยางตลาด ท่าคันโท สหัสขันธ์ ฆ้องชัย และหนองกุงศรี) จ.มหาสารคาม (อ.เมืองฯ กันทรวิชัย โกสุมพิสัย นาเชือก และเชียงยืน) จ.นครราชสีมา (อ.เมืองฯ โชคชัย จักราช และขามสะแกแสง) จ.บุรีรัมย์(อ.นางรอง ชำนิ และหนองกี่) จ.อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ และสว่างวีระวงศ์)จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เดิมบางนางบวช บางปลาม้า สองพี่น้อง ด่านช้าง หนองหญ้าไซ ศรีประจันต์ และสามชุก) จ.อ่างทอง(อ.เมืองฯ วิเศษชัยชาญ และไชโย) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร)