รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่อาศัยกระจัดกระจายอยู่นอกชุมชน ผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า บ้านพักตามโรงงาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดบริการพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวืต จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การเคหะแห่งชาติ และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้จัดทำและนำเสนอแนวทางและโครงการนำร่อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามนโยบายดังกล่าวเป็น 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการบ้านเอื้ออาทร สำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วไป และโครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด โดยมีสาระสำคัญของโครงการ โดยสรุป ดังนี้
1. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส “โครงการบ้านเอื้ออาทร” โดยการเคหะแห่งชาติ เป็นโครงการเสริมสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มี รายได้ครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท และ 15,000 บาท (ระดับรายได้ในปี 2546) โดยการจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่จำเป็นและองค์ประกอบชุมชน เช่น ตลาด ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ประกอบอาชีพหรืออุตสาหกรรมขนาดย่อม ฯลฯ ในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ โดยมีกรรมสิทธิ์ในลักษณะการเช่าซื้อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง รวมทั้งการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้อยู่อาศัยในการพัฒนา ชุมชนของตนเอง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน โครงการบ้านเอื้ออาทรจัดสร้างทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและในเมืองหลักเมืองรองในภูมิภาค
2. โครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด “บ้านมั่นคง” โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด “บ้านมั่นคง” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการอยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัดทั่วประเทศ โดยเน้นหลักการที่ให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการร่วมคิด ร่วมทำในการพัฒนาโครงการในเบื้องต้นมีโครงการนำร่องรวมทั้งสิ้น 10 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการ ตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย โดยจะขยายผลไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน/ ชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองแต่ละเมืองทั่วประเทศต่อไปในแนวทางใหม่ที่ให้ ชุมชน และท้องถิ่นเป็นแกนหลัก จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัย นำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ 1) โกลกวิลเลจจังหวัดนราธิวาส 2) ชุมชนเก้าเส้งจังหวัดสงขลา 3) เจริญชัยนิมิตรใหม่กรุงเทพมหานคร 4) บ่อนไก่ (คลองเตย)กรุงเทพมหานคร 5) บุ่งคุกจังหวัดอุตรดิตถ์ 6) คลองเตย 7-12 กรุงเทพมหานคร 7) เก้าพัฒนากรุงเทพมหานคร 8) ร่วมสามัคคีกรุงเทพมหานคร 9) คลองลำนุ่นกรุงเทพมหานคร 10) แหลมรุ่งเรืองจังหวัดระยอง
แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี
ในปี 2560 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน โดยการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน พอช. ประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน
โครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการโดย พอช. แตกต่างจากโครงการที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติก็คือ การเคหะฯ จะสร้างบ้าน สร้างแฟลต หรืออาคารสูง เพื่อขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในลักษณะ ‘เช่า-ซื้อเป็นรายบุคคล’
ส่วนโครงการบ้านมั่นคง พอช. จะสนับสนุนให้ ‘ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย’ เช่น อยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งของรัฐและเอกชน ที่ดินเช่า บ้านเช่า เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ฯลฯ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น จัดหาที่ดินใหม่ โดยเช่าหรือซื้อ เพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ หรือซ่อม สร้าง ปรับปรุงบ้านใหม่ในที่ดินเดิม ฯลฯ ตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน
โดย พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่ สถาปนิกชุมชน เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เช่น สนับสนุนการรวมกลุ่ม จัดตั้งคณะทำงานจากชุมชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการ ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล สำหรับทำนิติกรรมสัญญา ซื้อ-เช่าที่ดิน ขอใช้สินเชื่อจาก พอช. และบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน (ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนระยะยาว) อุดหนุนงบประมาณการสร้างบ้าน สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง ฯลฯ โดย พอช.จะอนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา (ไม่ได้อนุมัติเป็นรายบุคคล) และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะร่วมกันบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน
21 ปีบ้านมั่นคงและก้าวย่างต่อไป
นับจากปี 2546 ที่เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคง พอช. ได้ร่วมกับชุมชน สภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ขยายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านครอบครัวที่ยากจน) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร สนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ฯลฯ
จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2567) เป็นเวลา 21 ปี พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว จำนวนกว่า 3 แสนครัวเรือน
สัมมนาสรุปบทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก
ล่าสุด วันที่ 5-6 ตุลาคม 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายบ้านมั่นคง จัดเวทีสัมมนาสรุปบทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก โดยมีเป้าหมายการคือทบทวนภาพรวมการขับเคลื่อนงานปี 67 วางทิศทางการขับเคลื่อนงานโดยขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก กำหนดบทบาทหน้าที่ และสรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่อส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมจาก เครือข่ายบ้านมั่นคง เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เข้าร่วม กว่า 300 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 พอช. บางกะปิ กรุงเทพฯ
6นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน กล่าวถึง “บ้านมั่นคง” โครงการที่มากกว่าคำว่าบ้าน มีจุดผสมผสานในการขับเคลื่อนงานพัฒนา 3 ด้าน (1) การพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง เข้าถึงสิทธิ มีการออกแบบ ทำร่วมกัน เข้าถึงได้ (2) การสร้างชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาชุมชนทุกด้าน การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง/ท้องถิ่น/จังหวัด (3) การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สิทธิ ความไม่เป็นธรรม สร้างความเท่าเทียมการพัฒนาที่อยู่อาศัย “บ้านมั่นคง” ต่างจากกิจกรรมอื่น : เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว และเป็นถิ่นฐานของมนุษย์ มีระบบการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจ เกี่ยวข้องกับระบบอื่น ทั้งสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ก่อสร้าง เกิดการเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน เปลี่ยนสถานะคนจนทั้งระบบ
นางสาวสมสุข กล่าวต่อไปอีกว่า ตลอดเวลากว่า 21 ปี เป็นการเคลื่อนในช่วงที่ 3 ของการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่มีการดำเนินงานหลักโดยขบวนองค์กรชุมชนรมวกับภาคี ท้องถิ่น จังหวัด เมือง ชนบท ปรับเปลี่ยนจากการถูกวางแผนให้เป็นการวางแผนเอง เปลี่ยนจากการทำโครงการโดดเดี่ยว เป็นการทำงานเป็นขบวนการทั้งเมือง/ตำบล มีการเชื่อมโยงขับเคลื่อนขยายกับคนจนในเมือง/จังหวัด เปลี่ยนคุณภาพชุมชนให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม
เรามีเพื่อนร่วมงาน หน่วยงานภาคี หลากหลาย ที่เป็นส่วนร่วมในกลไกพัฒนาบ้านมั่นคงในท้องถิ่น มีกลไกระดับจังหวัดขับเคลื่อนงานร่วม : จ้งหวัด “คณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัด” (เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบท) มีการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคม มีการรวบรวมข้อมูล จัดทำแผน เชื่อมประสานเครือข่าย และหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น สร้างความร่วมมือ ติดตาม สื่อสารประชาสัมพันธ์ –> กลุ่มจังหวัด –> ภาค –> ส่วนกลาง “มีแผน มีกระบวนการ มีการทำงานร่วม ได้รับการยอมรับ” นางสาวสมสุข กล่าวในตอนท้าย
นางวารุณี สกุลรัตนธารา กรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้กล่าวถึง การหนุนเสริมพี่น้องชุมชน ซึ่งยกตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีการดำเนินงานที่เชื่อมโยงหน่วยงานที่หลากหลาย บทบาทของเราพยายามสร้างกำลังใจให้พี่น้องที่ทำงานที่อยู่อาศัย ใช้ประเด็นงานเชื่อมโยงขบวนงานที่อยู่อาศัย เกิดการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ การเกิดขบวนจังหวัด
ถือเป็นขบวนการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ ยกระดับการทำงานการเชื่อมโยงงานด้านที่ดิน เช่น ที่ดินป่าตอง มีการแก้ปัญหาประเด็นงานเร่งด่วน เช่น ภัยพิบัติ ฯลฯ สิ่งสำคัญคือจะมีวิธีการ ที่จะใช้เครื่องมือบ้านมั่นคงในการฟื้นฟูหรือพัฒนาพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
นางสาวจรรยา กลัดล้อม กรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้กล่าวว่า “ความทุกข์ของพี่น้องเราต้องนำเสนอและนำไปสู่การแก้ไข สิ่งที่อยากเสนอ“บ้าน ที่มากกว่าคำว่าบ้าน” เช่น กรณีสินเชื่อ ทั้งผิดนัด-มีปัญหา เพราะเราไม่มีอาชีพ หรือรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ กรณี จ.ชัยนาท มีการเชื่อมโยงงาน CSR แผนงานงบประมาณ ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ในระดับจังหวัด สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน มีแรงพลังสู้ต่อไปในการทำงาน
นางสาววิภาศศิ ช้างทอง ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ ได้กล่าวว่า ในนามสภาองค์กรชุมชน จะเป็นหน่วยที่เชื่องโยงและกระจายสื่อสานงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่ ร่วมช่วยแก้ปัยหา เป็นพื้นที่กลางสร้างความร่วมมือ
นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ ผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้กล่าวว่า จากการดำเนินงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กว่า 17 ปี การมีคณะกรรมการระดับจังหวัดจะเป็นกลไกตั้งต้น ในการเชื่อมโยงการทำงานในแต่ละขบวน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ต้องมีการเชื่อมโยงขบวนสวัสดิการ สภาองค์กรชุมชน และที่อยู่อาศัย ซึ่งกลไกเรามีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มองถึงกลไกของขบวนที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกับภาคี ซึ่งอาจจะเชิญผู้บริหารในพื้นที่ร่วม เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง ผ่านกลไกในระดับจังหวัด เครือข่ายสวัสดิการชุมชน มีแนวทางที่จะปรับรูปแบบการทำงานที่จะฟื้นฟูขบวนสวัสดิการชุมชน “การมีคณะทำงานจังหวัด จะเชื่อมงาน เชื่อมขบวนเชื่อมเครือข่าย และพัฒนางานทุกมิติ” ทำให้เกิดการบูรณาการ ทีมทำงาน กองทุน งานสวัสดิการ งานที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต สุดท้ายสิ่งคัญที่เราอยากผลักดันคือสวัสดิการผู้นำองค์กรทั้งหมด
นายทองใบ สิงสีทา สำนักงานประสานขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม กล่าวว่า การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต ให้เกิดการแก้ปัญหาทุกมิติ เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายของสภาองค์กรชุมชน และสวัสดิการชุมชน ในการขับเคลื่อน “จังหวัดบูรณาการ”ที่มีการเชื่อมโยงทุกประเด็นงานเกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง เกิดการรับรู้ และยอมรับของหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุน การแก้ปัญหาสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ การเชื่่อมโยงเครือข่ายหน่วยงาน การเพื่อให้เกิดการสร้างแผนพัฒนาพื้นที่
นางสนอง รวยสูงเนิน คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน กล่าว่า ความมุ่งหวังของการพัฒนางานที่อยู่อาศัย “อยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนา” การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ความยากจน กลุ่มเปราะบาง สหกรณ์ ต้องมีแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องร่วมคิด วางแผนการช่วยเหลือกลุ่มที่ยังไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ รายได้ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น“รวมพลัง เชื่อมั่น ทุกคนทำได้”
นางสาวอร่ามศรี จันทร์สุขศรี คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน ข้อดี ผลสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการพัฒนางานที่อยู่อาศัยเกิดจากการสร้างความร่วมมือของพี่น้อง ทิศทางที่จะขับเคลื่อนงานเครือข่ายจังหวัดจึงกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และความมั่นคงทุกมิติ
นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ทำให้มีบทบาทและสถานะ อยากให้เกิดการขับเคลื่อนให้ขบวนมีแผนพัฒนาฯ 3 ปี 5 ปี ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันทั้งขบวน “เราต้องผนึกพลังในการเคลื่อนให้เกิดระบบการขับเคลื่อน และสามารถเดินไปด้วยกัน ใหเ้กิดคุณภาพชีวิต ให้เกิดปัจจัย 4 ที่เข้มแข็ง”
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน กล่าวว่า พวกเราต้องความสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธา ให้เจ้าของปัญหาเป็นหลักการสร้างเครือข่าย การสร้างรูปธรรมพื้นที่ ร่วมกันผลักดันงานเชิงนโยบายเร่งด่วน
นางสาวอาภรณ์ บุญยะไวโรจน์ คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน กล่าวว่า พี่น้องเครือข่ายระดับชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนงานให้เกิดความโ)ร่งใสและเป็นรูปธรรม สร้างความภาคภูมิใจให้แกนนำเครือข่าย นำประสบการณ์การทำงานไปปรับใช้ในพื้นที่ใหม่ พร้อมผลักดันคณะทำงานบ้านมั่นคงระดับจังหวัดให้เป็นหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย
นางจิราภรณ์ เขียวพิมพา คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน กล่าวว่า จากการเรียนรู้การทำงานที่ผ่านมา การรวมพลังเป็นแรงขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จ ร่วมสร้างขบวนการทำงานทั้งเมืองและชนบท ที่จะนำไปสู่การต่อรองเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า งานพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง บ้านริมคลอง บ้านริมราง เป็นการสร้าง “บ้าน” เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต การช่วยเหลือ สนับสนุนความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ ในการพัฒนาต้องมีการยึดโยงเครือข่ายในการทำงาน จากข้อเสนอของขบวนองค์กรชุมชน พอช.จะไปออกแบบการช่วยเหลือ หนุนเสริมให้สอดคล้องกับการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน ทั้งมาตรการด้านสินเชื่อแนวทางการแก้ปัญหาที่ดิน พอช.เราดำเนินการอยู่ มีการประสานไปยังหน่วยงานเจ้าของที่ดินเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาพอช.มีแนวทางในการส่งเสริมให้ “ขบวนองค์กรชุมชนลุกขึ้นมาเป็นจังหวัดจัดการตนเอง เป็นขบวนใหญ่” และเชื่อมร้อยกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องที่ ท้องถิ่น ปี 2568 มีเป้าหมายในการส่งเสริมจังหวัดจัดการตนเอง 13 จังหวัดนำร่อง มีระบบมีงบประมาณในการหนุนเสริม และมีแผนในการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน พอช. ให้เท่าทัน “พอช. จะเล็ก กระทัดรัด ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ” มีบทบาทในการแสวงหาหุ้นส่วนและงบประมาณจากภายนอกให้มากขึ้น พอช.เป็นองค์กรที่ส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนแก้ไขความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ มีระบบรองรับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยขบวนองค์กรชุมชนและเครือข่าย
สรุปการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยปี 2567
การขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยปี 2567 ได้มีข้อสรุปจากผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงจากทั่วประเทศ ดังนี้คือ มีการอนุมัติโครงการบ้านมั่นคงเมือง-ชนบท ปี 2567 จำนวน 36 โครงการ รวม 4,087 ครัวเรือน มีการฟื้นฟูองค์กรผู้ใช้สินเชื่อสมาชิกในโครงการโดยการเชื่อมโยงภาคี 4 ฝ่าย ได้แก่ พอช. กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมชน เจ้าของที่ดิน ทำให้เกิดกลไกเครือข่ายคนทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่-ฟื้นฟูคนทำงาน เกิดการขับเคลื่อนงานคณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัด สามารถเชื่อมโยงและประสานการทำงาน ร่วมกับหน่วยงาน ได้อย่างมีสถานะ และเกิดการยอมรับมีฐานข้อมูล ภาพรวมระดับจังหวัดเชื่อมโยงกับหน่วยงาน เกิดเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนการทำงานกับขบวนเครือข่ายในจังหวัด ทำให้มีการเชื่อมโยงที่หลากหลายมากขึ้น เกิดการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้งตำบล/เมือง (พื้นที่รถไฟ/ภูมินิเวศ/โมเดลอำเภอ)
ข้อเสนอการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯของเครือข่ายบ้านมั่นคง ต่อ พอช.
จากการสัมมนาสรุปบทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ทางเครือข่ายฯ มีข้อสเนอต่อ พอช. ดังต่อไปนี้ 1. พอช.เป็นตัวกลางหนุนเสริมในการเจรจากับหน่วยงานเจ้าของที่ดินทุกประเภท 2.องค์กรผู้ใช้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกรณีเบิกสินเชื่อให้ยกเว้นชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย 6-12 เดือน 3.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาคุณภาพสหกรณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจ อาชีพ รายได้สมาชิกสหกรณ์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ(1%) ระยะเวลาไม่เกิน 3-5 ปี หรือ จัดสรรตามขนาดสหกรณ์ S M L เพื่อแก้ไขปัญหาภายในสหกรณ์/กลุ่มออมทรัพย์ 4.กรณีโครงการที่หมดหนี้กับพอช. ไม่ได้รับงบอุดหนุนที่อยู่อาศัย และมีการเสนอสินเชื่อใหม่ในการปรับปรุงซ่อมแซม สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 1-2% ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี 5.สร้างสถานะองค์กรชุมชน ยกระดับกลุ่มออมทรัพย์/สถาบันการเงินชุมชน เป็นองค์กรนิติบุคคล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) รับรองการจดทะเบียน แก้ไขระเบียบพรบ.การเงินชุมชน 6.เสนอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ให้กับสถาบันการเงินชุมชน (กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนกลางดูแลภัยพิบัติ) ผ่าน พอช. ในการหนุนเสริมไปยังองค์กรชุมชน > ข้อเสนอต่อรัฐบาล 7.ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโครงการห้องเช่าราคาถูก ผ่านพอช. ให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากจน กลุ่มเปราะบาง คนรุ่นใหม่ที่พึ่งเริ่มทำงาน เป็นอีกรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช. 8.สนับสนุนงบอุดหนุนในการซ่อมแซมปรับปรุง โครงการบ้านมั่นคงเดิม