กระทรวง อว. หนุนผลิตกำลังคนตอบความต้องการเร่งด่วนของประเทศผ่านหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ พร้อมอนุมัติเพิ่ม 5 หลักสูตร ในสาขาสำคัญของประเทศ เน้นย้ำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ เริ่มดำเนินการปีการศึกษา 2568

วันที่ 3 ตุลาคม 2567) คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีวาระสำคัญในการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เพิ่มเติมอีก 5 หลักสูตร

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่เสนอเพื่อขออนุมัติจัดการศึกษาเพิ่มเติมในครั้งนี้ อยู่ในสาขาที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ระบบราง โดยเฉพาะหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นหลักสูตรกลางของประเทศ โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 15 แห่ง เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตเฉพาะทางสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการ และมีจำนวนมากเพียงพอสำหรับดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงนำไปสู่การเป็น New Growth Engine ตัวใหม่ของประเทศ หลักสูตรนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความร่วมมืออย่างเข้มข้นของสถาบันการศึกษากับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ 8 แห่ง ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบสมรรถนะ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือขั้นสูง รวมถึงการรับนักศึกษาเข้าฝึกและเข้าทำงานหลังจบการศึกษา นอกจากนี้ อีกหนึ่งหลักสูตรที่มีความต้องการขาดแคลนเร่งด่วน คือ หลักสูตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cybersecurity ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเปลี่ยนสายงานสามารถเข้าศึกษาและได้รับปริญญาใบที่ 2 พร้อมทำงานในสายงานดังกล่าวได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ จะมีการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 2) โครงการ K-Engineering WiL (Work-integrated Learning) 3) หลักสูตรสาขาวิชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 4) หลักสูตรสาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ 5) หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง โดยการประชุมครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีการอนุมัติหลักสูตร สำนักปลัดกระทรวง อว. จะเร่งดำเนินการติดตามการทำงาน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดนวัตกรรมการอุดมศึกษา และสามารถตอบความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างทันท่วงที

ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดการศึกษาในหลักสูตรที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีทั้งรูปแบบ Bottom-up Approach จากการที่สถาบันอุดมศึกษาจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ ส่งมาที่กระทรวง อว. และรูปแบบ Top-down Approach ที่เกิดจากกระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่เล็งเห็นโจทย์ความขาดแคลนกำลังคนอย่างเร่งด่วนของประเทศ เช่น กำลังคนด้าน Semiconductor and Advanced Electronics ทำให้เกิดการผลักดันหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังคนตอบความต้องการของประเทศ โดยที่ผ่านมามีการอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ในรูปแบบ Bottom-up Approach ไปแล้ว 11 ข้อเสนอ มีเป้าหมายผลิตกำลังคน 19,695 คน ภายใน 10 ปี และได้เปิดการเรียนการสอนแล้วในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนเข้าเรียนรวม 530 คน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางขับเคลื่อนหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ Semiconductor Engineering ในรูปแบบ Top-down Approach ใน 8 สถานประกอบการ 15 สถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย และการดำเนินงานในปี 2567 จะมีการพิจารณาอนุมัติหลักสูตรฯ เพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ข้อเสนอ

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงรายละเอียดใน 5 ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ ที่ผ่านการอนุมัติ ได้แก่
1. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหลักสูตรกลางเฉพาะทางด้านเซมิคอนดักเตอร์หลักสูตรแรกของประเทศ ที่ครอบคลุมการผลิตวิศวกรด้านเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรม ใน 3 สาขา ได้แก่ 1. IC Design 2. Semiconductor Fabrication และ 3. Semiconductor Assembly and Testing เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อย 15 แห่ง ประกอบด้วย (1) ส.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (2) ม.ขอนแก่น (3) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (4) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (5) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (6) ม.เชียงใหม่ (7) ม.เกษตรศาสตร์ (8) ม.เทคโนโลยีสุรนารี (9) ม.สงขลานครินทร์ (10) ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (11) ม.บูรพา (12) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (13) ม.เทคโนโลยีมหานคร (14) ม.นเรศวร (15) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เครือข่ายสถานประกอบการอย่างน้อย 8 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือร่วมกัน ทำให้สามารถผลิตกำลังคนเฉพาะทางสมรรถนะสูงในด้านที่ขาดแคลนให้มีจำนวนที่มากเพียงพอได้ โดย สจล. ที่นำร่องจัดการศึกษาได้วางเป้าหมายผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ครอบคลุมทั้ง 3 สาขาข้างต้น รวม 480 คน

2. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์โครงการ K-Engineering WiL (Work-integrated Learning) แบบปกติและเร่งรัด สจล. เป็นการผลิตวิศวกรตามความต้องการแบบเร่งรัด จัดการศึกษาแบบ WiL อย่างเข้มข้น โดยนักศึกษาปริญญาตรีจะเข้าฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ 3-4 ภาคการศึกษา และบัณฑิตศึกษา 1-2 ภาคการศึกษา มีความร่วมมือกับสถานประกอบการ 20 แห่ง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียน ม.ปลาย/ปวช. สามารถเรียน Pre-degree และเก็บสะสมหน่วยกิตในระดับปริญญาตรีได้ ตั้งเป้าผลิตวิศวกรที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career Readiness) จำนวน 450 คน ครอบคลุมทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก

3. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทาง
ไซเบอร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยสมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอีก 9 แห่ง เป็นการผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรี ที่มีทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลในสาขาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รองรับความต้องการในอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและนักศึกษาในสาขาที่ใกล้เคียง ที่ต้องการเปลี่ยนสายงานมาเพิ่มเติมความรู้และสมรรถนะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และได้รับปริญญาใบที่ 2 ได้ โดยหลักสูตรนี้ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีและปริญญาตรีใบที่ 2 จำนวน 150 คน

4. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงในศาสตร์แห่งอนาคต 5 สาขา ได้แก่ Medical devices, Drug discovery & development, Biologics & Vaccines, Medical robotics และ AI-based medical diagnosis ที่เน้นการพัฒนาทักษะเชิงเทคนิคระดับสูง ควบคู่กับมุมมองเชิงประกอบการและการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพตอบโจทย์อุตสาหกรรม หรือสร้าง Startup รองรับการพัฒนาประเทศด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ตั้งเป้าบัณฑิตระดับปริญญาโท จำนวน 500-1,000 คน

และ 5. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง (หลักสูตรนานาชาติ) (หลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการผลิตและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงให้มีความเชี่ยวชาญองค์รวมของระบบขนส่งทางราง เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านงานวิศวกรรมระบบราง ตอบโจทย์การขยายตัวของอุตสาหกรรมระบบรางทั้งภายในประเทศและระดับสากล โดยเป็นการจัดการศึกษาแบบ Co-Creation ร่วมกับสถาบันวิจัย ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) และภาคผู้ใช้บัณฑิตเพื่อแชร์ทรัพยากรและส่งเสริมการต่อยอดให้เกิดผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมร่วมกัน ตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมระบบราง รวม 50-100 คน

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ได้กล่าวเสริมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่จะมีขั้นตอนการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบัณฑิตจากหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์จะมีคุณภาพสูง พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และเพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรต่อไป โดยหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติในครั้งนี้เตรียมจะเปิดการศึกษาในปี 2568