นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ เปิดเผยว่า จากการประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ที่พยากรณ์ไว้ว่าฝนจะเริ่มเบาบางลงในวันที่ 4 , 5 และ 6 ตุลาคม 2567 ซึ่งปัจจุบันนี้แม่น้ำป่าสักช่วงวิเชียรบุรีก็ยังถือว่ามีปริมาณน้ำค่อนข้างสูงซึ่งอยู่เหนือเขื่อนป่าสักโดยน้ำเหล่านี้ก็จะไหลเข้าสู่เขื่อนป่าสัก ณ ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักมีความจุอยู่ประมาณ 600 กว่าล้าน ลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรับได้อีกอยู่ประมาณ 300 กว่าล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณ 67%ความจุของอ่างที่สามารถเก็บกักได้ 960 ล้านลูกบาศก์เมตรของเขื่อน ในส่วนของการระบายน้ำปัจจุบัน รับน้ำด้านเหนือไหลเข้าอ่าง วันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระบายออกอยู่ที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นระบายออกไป 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บไว้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับในวันที่ 4 จากการคาดการณ์ภูมิอากาศปริมาณน้ำฝนอาจจะลดลงเนื่องจากความกดอากาศที่แผ่ลงมาจากประเทศจีน จะทำให้ฝนลดน้อยลง ตั้งแต่วันที่ 4 , 5 และ 6 เป็นต้น ซึ่งในลักษณะเช่นนี้เขื่อนก็จะลดการระบายเพื่อให้สอดคล้องกับน้ำที่อยู่ด้านเหนือ ที่จะเข้าเขื่อน โดยจะเริ่มลดการระบายตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม จาก 350 เหลือ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 5 ตุลาคม ลดจาก 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และในวันที่ 6 ตุลาคม เหลือระบาย 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำที่ยังคงมีช่องว่างเหลืออยู่ ก็คาดว่าสิ้นสุดฤดูฝน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ตามปฏิทินของกรมชลประทานก็จะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมีน้ำเต็ม 100% ความจุของเขื่อน ซึ่งในปีนี้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำให้เกษตรกรเพื่ออุปโภค บริโภค และผลักดันน้ำเค็ม การรักษาระบบนิเวศ การอุตสาหกรรม ตลอดจนการเพาะปลูกด้านการเกษตรต่างๆ ในตลอดช่วงตลอดฤดูแล้งเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังเราต้องติดตามสภาวะภูมิอากาศเป็นหลักก็คือน้ำที่อยู่บนฟ้าซึ่งไม่มีความแน่นอน จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เราก็จะต้องติดตามทุกวัน ในส่วนของพายุที่จะเกิดหรือไม่เกิดนั้น เราก็ไม่นิ่งนอนใจในส่วนของเขื่อนป่าสักก็จะติดตามทั้งน้ำบนฟ้า และน้ำที่ลงมาเป็นน้ำท่าจากสถานีวัดน้ำต่าง ๆ ตั้งแต่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มาจนถึงเขื่อนป่าสักเราจะมีสถานีวัดน้ำติดตามสถานการณ์น้ำตลอดเส้นทาง เพื่อที่จะวางแผนการจัดการน้ำได้เป็นรายสัปดาห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
แต่อย่างไรก็ตาม หากอาจต้องมีการระบายน้ำเพิ่มเติมด้านท้ายเขื่อนเพื่อให้การเก็บกักน้ำหน่วงน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะดำเนินการระบายตามแผนในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้น้ำล้นตลิ่งและจะแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง ตลอดจนไปถึงพี่น้องที่อยู่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้านท้ายเขื่อนพระราม 6 ก็จะได้รับการแจ้งเตือน ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน โดยน้ำจากเขื่อนป่าสักจะไปถึง พระราม 6 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็จะใช้เวลาเดินทาง 1 วัน ทั้งนี้คาดว่าถ้าไม่มีพายุฝนก็จะสามารถที่จะผ่านฤดูฝนในปีนี้ไปได้โดยที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบทั้งพี่น้องประชาชนคนลพบุรี คนสระบุรี ตลอดจนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานครอีกด้วย