วันที่ 4 ต.ค. 2567 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมการข้าวจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมี นายสุริยศักดิ์ เหมือนอ่วม นายอำเภอสังขละบุรี ให้การต้อนรับและนำคณะไปยังพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องชาวนา และตรวจเยี่ยมแปลงนาใน ต.ไล่โว่ เนื่องจากพื้นที่นาดังกล่าว ประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยหลังขาว ที่ส่งผลให้ต้นข้าวในแปลงนาได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการข้าวได้สั่งการให้นำโดรนทางการเกษตรขึ้นบินเพื่อฉีดพ่นสารป้องกำจัดแมลงในแปลงนาที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยหลังขาว เพื่อกำจัดและลดปริมาณการระบาด อีกทั้วได้มอบสารดังกล่าวให้ชาวนาในพื้นที่ได้นำไปฉีดพ่นในแปลงนาต่อไป นอกจากนั้นได้ร่วมพูดคุยกับพี่น้องชาวนาถึงปัญหาและอุปสรรค โดยพร้อมให้การสนับสนุนเครื่องจักรทางการเกษตร โรงสี และอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เนื่องจากชาวนาในพื้นที่ยังขาดเครื่องมือทางการเกษตรในการทำนา
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สาเหตุการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยหลังขาวมีหลายปัจจัย ประกอบด้วย วิธีการปลูกข้าว เพราะส่วนใหญ่นาหว่านจะมีการระบาดมากกว่า นาดำ เนื่องจากมีต้นข้าวหนาแน่นกว่า อุณหภูมิความชื้นเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ย ดังนั้นจึงควรใช้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวส่งเสริมโดยเป็นพันธุ์ที่มีการต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยหลังขาว ซึ่งรวมไปถึงการใช้ปุ๋ย เพราะหากใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก ใบข้าวจะเขียว หนาแน่น อวบน้ำ เหมาะแก่การเข้าดูดกินและขยาย พันธุ์ของเพลี้ย นอกจากนั้นปัจจัยการควบคุมน้ำในนาข้าว ยังส่งผลด้วยเช่นกันเนื่องจากนาที่มีน้ำขังในนาตลอด จะมีการเพิ่มปริมาณของเพลี้ยได้มากกว่านาที่มีการระบายน้ำในนาออกเป็นครั้งคราว และที่สำคัญการใช้สารฆ่าแมลง หากใช้ในระยะเพลี้ยตัวเต็มวัย หรือช่วงที่อพยพเข้าในนาข้าวใหม่ ๆ ตัวเพลี้ยจะตาย แต่ไข่ของเพลี้ยมีโอกาสรอดสูง
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า สำหรับการป้องกันและควบคุมปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สามารถทำได้โดย หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอหากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้รีบกำจัด อีกทั้งไม่ควรขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดีดินเปียก เพื่อให้สภาพนิเวศในแปลงนาไม่เหมาะสมต่อการขยายประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยหลังขาว อีกทั้งไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากเกินไป
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหากพบในนาข้าวในแต่ระยะว่า หากพบในระยะก่อนข้าวตั้งท้อง เมื่อตรวจพบให้ใช้สาร ป้องกันกำจัดแมลง เช่น บูโพรเฟซิน อีโทเฟนพรอกซ์ หรือไอโซโปรคาร์บ ส่วนในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงเมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัวต่อกอ หรือ 1 ตัวต่อต้น และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบน้อยมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ไดโนทีฟเรน หรือไพมิโทรซีน โดยใช้อัตราตามคำแนะนำที่ระบุในฉลาก และสุดท้ายในระยะข้าวใกล้เก็บเกี่ยวกรณีพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านให้ใช้เครื่องดูดแมลงล่อ ทำลาย หรือกับดักกาวเหลืองล่อทำลาย เพื่อลดจำนวนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะอพยพไปยังแปลงข้าวปลูกใหม่