ม.อ. จับมือ กทพ. ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์-นวัตกรรม ด้านคมนาคมและความปลอดภัยในการจราจร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินงาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมด้านคมนาคมและความปลอดภัยในการจราจร โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ. คำรณ พิทักษ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายพิทยา ธนวณิชย์กุล รองผู้ว่าการ (ดิจิทัล) นายเทพฤทธิ์ รัตนปัญญากร ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล 1 ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 2801 ชั้น 28 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในวันที่ 2 ตุลาคม 2567

การลงนามดังกล่าวเพื่อร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านการคมนาคม ความปลอดภัยในการจราจร และด้านอื่น ๆ โดยผ่านกระบวนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากยางพาราหรือวัสดุอื่น ๆ นำผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านการคมนาคม และความปลอดภัยในการจราจร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราหรือวัสดุอื่น ๆ ไปสู่การใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ตลอดจนร่วมมือในการผลักดันให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ในด้านการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมในครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่การใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมและความปลอดภัยในการจราจรได้จริงร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หน่วยงาน สังคม และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีบุคลากร อาจารย์ นักวิจัย ด้านยางพารา และดำเนินการวิจัยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านการคมนาคม และความปลอดภัยในการจราจร อีกทั้งสามารถดำเนินการวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยจำนวนมากด้านยางพาราของมหาวิทยาลัยมีการนำไปสู่การใช้ประโยชน์แล้วจริงร่วมกับภาคเอกชน