เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมาย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเกษตร (บอร์ด2) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิดบูทของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ วช. ซึ่งมาร่วมจัดแสดงในงาน FARM EXPO 2024 มหกรรมงานเกษตรในที่ร่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ระหว่าง 4-6 ตุลาคม 2567 ณ ไบเทคบางนา
รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้เห็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ นำผลงานมาจัดแสดงในงาน FARM EXPO ได้อย่างยิ่งใหญ่ น่าตื่นตาตื่นใจ ที่ผ่านมาอาชีพเกษตรกรมักถูกมองแบบด้อยค่า และสร้างจีดีพีให้กับประเทศไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม หากใช้งานวิจัยวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพัฒนาการเกษตรจะยกระดับงานด้านการเกษตรได้เป็นอย่างมาก ซึ่งตรงนี้ วช. จะมีบทบาทสำคัญ การจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ซึ่งรวบรวมผู้มีความรู้มาอยู่รวมกันจึงเป็นวิสัยทัศน์ที่สามารถสร้างองค์ความรู้ เป็นประโยชน์อย่างมาก และตั้งความหวังที่อยากได้เห็นผลงานที่เป็นของคนไทยมากยิ่งขึ้น
ด้าน รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ วช. กล่าวว่าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. ปี2566-2570 และได้รับความร่วมมือจากสถาบันและศูนย์วิจัยในสถาบันอุดมศึกษาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยใช้การวิจัยวิทยาศาสตร์และเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลไม้ในหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศก่อให้เกิดผลผลิตจากงานวิจัยที่มากขึ้นและผลงานวิจัยที่ถูกต่อยอดขยายผลได้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ มีสมาชิก 39 คน จาก 18 สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการครั้งนี้เพื่อนำผลงานวิจัยมาขับเคลื่อนและผลักดันผลไม้ไทยให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น และขยายผลถ่ายทอดต้นแบบงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ในงาน FARM EXPO 2024 ครั้งนี้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯได้นำผลงานมาจัดแสดง รวม10 ผลงานประกอบด้วย การฉายรังสีมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา การตรวจคุณภาพทุเรียนหมอนทองแบบไม่ทำลายโดยใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปคโทรสโกปี การวิจัยและพัฒนา สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 89 ผลงาน รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร การใช้สารสกัดหยาบจากใบสัก ในการควบคุมเชื้อและโรคหลังการเก็บเกี่ยวกล้วยหอมทอง ผลงาน ผศ.ดร.มนตรี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โปรแกรมการประมาณความต้องการน้ำสำหรับไม้ผลเศรษฐกิจ ผลงาน รศ.ดร. สุภัทร อิศรางกูร ณ อยุธยา จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครื่องวิเคราห์คุณภาพทุเรียนอย่างรวดเร็วด้วยเทคนิค NIR ผลงาน รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชุดตรวจความแท้ทุเรียนหลงลับแล ผลงานรศ.ดร.ปิยศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การใช้ไมคอร์ไรซาในทุเรียนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและเสริมสร้างความต้านทานโรค ผลงาน ดร.รุจิรา ดีวัฒนวงศ์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การลดปฏิกริยาการเกิดสีน้ำตาลของมะพร้าวนำ้หอม โดยใช้เมลาโทนินและซิโตรเนลลอล และผลของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลับไซโจว ผลงาน ผศ. ดร.วาริช ศรีลออ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในตอนท้าย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ได้เชิญชวนเกษตรกรผู้สนใจสามารถเข้ารับคำแนะนำ และปรึกษาเพื่อสร้างมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ไทยเพื่อการส่งออก ตลอดการจัดงาน FARM EXPO 2024 ที่บูธ M14 ฮอล 98-99 ไบเทคบางนา ถึงวันที่ 6 ตุลาคม ศกนี้