นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.92 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้จริง หลังเราได้ call bottom USDTHB ไปในวันก่อนหน้า (กรอบการเคลื่อนไหว 32.73-32.95 บาทต่อดอลลาร์) ทว่าการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นก็ถือว่ามากกว่าที่เราประเมินไว้ โดยเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุทั้งโซนแนวต้านแรกแถว 32.65 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงวันก่อนหน้า ตามโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ (ขายสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ไทยเกือบ -9 พันล้านบาท) ก่อนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากการปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดโดยผู้เล่นในตลาด ตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนกันยายน ที่เพิ่มขึ้นราว 1.4 แสนตำแหน่ง ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ตามแรงซื้อในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด ซึ่งยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง (มิเช่นนั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้วได้)
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่ารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงอยู่ ทว่า สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +1.3% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ส่วน Tesla -3.5% ก็ปรับตัวลดลงแรง จากรายงานยอดส่งมอบรถยนต์ที่ต่ำกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.01%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.05% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการทหาร อาทิ Shell +1.7%, BAE +2.0% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ทว่า ความกังวลดังกล่าวก็กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก กดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 3.80% ตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ยาก อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็อาจรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้เพิ่มเติม เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยทั้งยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาดีกว่าคาด และความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์ในระยะสั้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.2-101.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าจะมีบางจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็ตาม โดยราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ตั้งแต่ รายงานยอดการเลิกจ้างงาน (Challenger Job Cuts) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกันยายน พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังอยู่บ้าง ว่า เฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมที่เหลือของปีนี้
ส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น หลังเราได้ Call Bottom USDTHB ไปในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ เงินบาทยังได้อ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 32.85 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในต้นสัปดาห์ ทำให้ในเชิงเทคนิคัลเรามีความมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดไม่ได้กลับมาเชื่อมั่นว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลือของปีนี้ จนไปถึงช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเรามองว่า ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในคืนวันพฤหัสฯ นี้ และในช่วงคืนวันศุกร์นี้ ที่จะมีรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยหากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงต่อทะลุโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ก็อาจเผชิญโซนแนวต้านแถว 33.15-33.20 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งเรามองว่า ความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวอาจใช้เวลาหลายวัน จนถึงระดับ 1-2 สัปดาห์ได้ ถึงจะเริ่มคลี่คลายลงได้บ้าง โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ต้องจับตาท่าทีของทางการอิสราเอลในการตอบโต้ การโจมตีรอบล่าสุดจากทางอิหร่าน นอกจากนี้ เรามองว่า ในช่วงระยะสั้น เงินบาท รวมถึงบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบลดสถานะ Net Long บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ (มองสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น) อีกทั้ง เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ผู้ส่งออกอาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงใกล้โซนแนวต้าน เช่น เหนือโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ อนึ่ง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในอัตราไม่ต่างกับวันก่อนหน้า หรือ อย่างน้อยวันละ 5 พันล้านบาท ก็อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องได้มากกว่าที่เราประเมินไว้ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านถัดไป 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะในส่วนของดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เนื่องจากภาคการบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้หากภาคการบริการมีแนวโน้มชะลอตัวลงหนักกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเชื่ออีกครั้งว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ไม่ยาก
เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.20 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)