1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคกลาง : จ.อุทัยธานี (206) ภาคเหนือ : จ.กำแพงเพชร (195) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ชัยภูมิ (145 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (102) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (101) และภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (59 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้แล้ว ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ส่วนบริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 4–8 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน และอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับลมตะวันออกพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่างภาคตะวันออก และภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 75% ของความจุเก็บกัก (60,230 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 62% (36,043 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังแม่น้ำกก ช่วงวันที่ 2 – 9 ตุลาคม 2567 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้ฝนตกหนักมากในพื้นที่ต้นน้ำในเขต อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำกก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำกก บริเวณ อ.เมืองเชียงราย เวียงชัย เวียงเชียงรุ้ง แม่จัน ดอยหลวง และเชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 0.5 – 1.0 เมตร
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ในการนี้ นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือส่งผลกระทบน้อยที่สุด และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา ได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อเตรียมขนย้ายสิ่งของต่างๆ ไว้ในที่ปลอดภัย รวมถึงมอบหมายให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์น้ำ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกันในการดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้ง ขอให้เร่งกำจัดขยะและผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและ
เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และได้เน้นย้ำเรื่องการจัดการน้ำแม่น้ำยม โดยให้มีการศึกษา ทบทวน และดำเนินการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ และยั่งยืนต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 2 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เวียงป่าเป้า แม่สาย และแม่ลาว) จ.เชียงใหม่ (อ.สารภี) จ.ลำปาง (อ.แม่พริก และเถิน) จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ และบ้านธิ) จ.ตาก (อ.สามเงา และบ้านตาก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม วังทอง และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง และสวรรคโลก) จ.หนองคาย (อ.เมืองฯ ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ และโพนพิสัย) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ วังสามหมอ กุดจับ พิบูลย์รักษ์ บ้านดุง และสร้างคอม) จ.ชัยภูมิ (อ.คอนสวรรค์ และจัตุรัส) จ.มหาสารคาม (อ.เมืองฯ กันทรวิชัย โกสุมพิสัย และเชียงยืน) จ.อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ เขมราฐ โพธิ์ไทร นาตาล โขงเจียม และสว่างวีระวงศ์) จ.อ่างทอง (อ.วิเศษชัยชาญ และไชโย) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ผักไห่ เสนา และบางไทร)