บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศโครงการ RECO Young Designer Competition 2019 โดย เศรษฐวุฑฒิ์ นามปัญญา คว้ารางวัลชนะเลิศจากคอลเล็คชั่น “SILENT KILLER” รับเงินรางวัล 100,000 บาท เผยแรงบันดาลใจมาจากเศษซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกพันธนาการด้วยขยะในท้องทะเลมาดีไซน์ผลงานแฟชั่นรักษ์โลก ด้านไอวีแอล ปักธงผลักดันการรีไซเคิล และการใช้พลาสติกรีไซเคิล (rPET) ตลอดจนเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
นางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ RECO Young Designer Competition 2019 ว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส ริเริ่มโครงการ RECO ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันออกแบบอัพไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและยกระดับการรีไซเคิล และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอัพไซเคิลมากมายจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาศักยภาพมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งการเดินทางของเราในแต่ละปีจะยิ่งเพิ่มความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการจัดการกับของที่เราไม่ใช้แล้ว อันมีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป”
นางสาวนวีนสุดา กระบวนรัตน์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวด RECO 2019 กล่าวว่า “ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทุกทีมในปีนี้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เราประทับใจในความทุ่มเท และความคิดสร้างสรรค์ของทุกทีมที่ร่วมแข่งขันตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่คัดเลือกผลงานจากกว่า 200 ชิ้น จนได้ 30 ทีม และเหลือผู้เข้ารอบสุดท้าย 10 ทีมที่ได้ผ่านทั้งการเวิร์คช็อป การนำเสนอผลงาน การฟิตติ้ง จนถึงการเดินแฟชั่นโชว์รอบสุดท้ายในครั้งนี้”
“สำหรับผลงานที่เข้าตาและตอบโจทย์ธีม RE-WEAR มากที่สุด คือผลงานของ นายเศรษฐวุฑฒิ์ นามปัญญา ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันจากคอลเลคชั่นที่มีชื่อว่า “SILENT KILLER” โดยมีจุดเด่น คือความคิดสร้างสรรค์ในการใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น สายกระเป๋าโพลีเอสเตอร์ เส้นด้ายเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เส้นด้ายจากการรีไซเคิลขวด PET สี photochromic ที่ทำปฏิกริยากับแสง UV และผ้า DEJATM ซึ่งเป็นผ้าที่ผลิตจาก PET รีไซเคิล 100% ของไอวีแอล มาดีไซน์เป็นผลงานที่สวยงามโดดเด่น สามารถใช้คุณสมบัติของผ้ารีไซเคิลผสานกับวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม สอดคล้องกับธีม RE-WEAR ที่สามารถใส่เสื้อผ้าเหล่านี้ได้จริงในหลากหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็น casual-wear, cocktail-wear และ catwalk-wear อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์รักษ์โลกแบบ Circular Economy อีกด้วย” นวีนสุดา กล่าว
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ ผู้ชนะเลิศ ซึ่งคือ นายเศรษฐวุฑฒิ์ นามปัญญา ในคอลเล็คชั่น “SILENT KILLER” จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท โดยรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นายนายนิธิวรรธ สกุลศรีประเสริฐ ในคอลเล็คชั่น “RE-BORNLESS” ได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นายนายภาวิต ประวัติ ในคอลเล็คชั่น “SUPER ULTRA RE WEAR ” ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท
ด้าน นายเศรษฐวุฑฒิ์ นามปัญญา ผู้คว้าแชมป์ RECO Young Designer 2019 ได้กล่าวแสดงความรู้สึกว่า “ตื้นตันมาก ต้องขอขอบคุณอินโดรามา เวนเจอร์ส ที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลในการนำขยะมารีไซเคิลเป็นสิ่งของ เป็นผ้ารีไซเคิล เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ และยังเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่เช่นพวกเราได้สร้างสรรค์ผลงานที่ดี โดยเฉพาะคอลเลคชั่นนี้ทำมาจากแรงบันดาลใจที่บ่งบอกว่า มนุษย์เป็นเสมือนนักฆ่าที่ไม่รู้ตัวว่าเราได้ฆ่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยผมเจาะจงในแม่น้ำ ในมหาสมุทร ที่ผมเคยเห็นเต่า หรือแมวน้ำที่ติดแห ติดอวน จนโดนบาดคอ และทำให้ทุกข์ทรมาน จนเสียชีวิตลง กลายเป็นเทคนิคของผ้าที่เอาเส้นด้ายที่ยังไม่ได้ทอเป็นผ้ามาโรยกันเป็น layer เหมือนเป็นการสร้างพื้นผิวใหม่ ไล่สี สร้างเทกซ์เจอร์ของตัวผ้า ตอนนี้ ถือว่าความกดดัน ความเหนื่อย และความลำบากที่ผ่านมามันหายไปหมดแล้ว ผมตั้งใจจะเก็บเงินรางวัลไว้เป็นทุนทรัพย์ทำแบรนด์เสื้อผ้าต่อไป ต้องขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ให้คำแนะนำ และเล็งเห็นถึงความตั้งใจของผม ขอบคุณครับ”
นางอาราธนายังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน และเชื่อมั่นว่า โครงการ RECO Young Designer Competition 2019 จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จุดพลังแห่งความคิดของคนรุ่นใหม่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ผ่านการเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิลและอัพไซเคิลขยะพลาสติก รวมถึงกระตุ้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ PET เป็นวัสดุตั้งต้น ให้ตระหนักถึงการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยกลุ่มบริษัทฯ จะเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ rPET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการกิจกรรมร่วมกับสังคมและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป”