วันที่ 29 กันยายน 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 ” ประจำปี 2566 ในคอนเซ็ปต์ “แสงแห่งกันและกัน” โดยมีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นายพรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นายวิชัย กุลธวัชชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารบริษัทผลิตภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักแสดง นักร้อง บุคลากรในวงการภาพยนตร์ แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ ชั้น 6 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
โดยในโอกาสนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นผู้ประกาศผลและมอบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้แก่ภาพยนตร์ เรื่อง สัปเหร่อ โดยบริษัทไทบ้านสตูดิโอ จำกัดและบริษัทมูฟวี่ พาร์ทเนอร์ จำกัด นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประกาศผลและมอบรางวัลภาพยนตร์ไทยรายได้สูงสุดประจำปี 2566 ให้แก่ภาพยนตร์ เรื่อง สัปเหร่อ โดยบริษัทไทบ้านสตูดิโอ จำกัดและบริษัทมูฟวี่ พาร์ทเนอร์ จำกัด นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ประกาศผลและมอบรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้แก่ธิติ ศรีนวล จากภาพยนตร์ เรื่องสัปเหร่อ นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นผู้ประกาศผลและมอบรางวัลภาพยนตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยมให้แก่ภาพยนตร์ เรื่องสัปเหร่อ กำกับโดยธิติ ศรีนวล นายธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นผู้ประกาศและมอบรางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศให้แก่รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ภาพยนตร์) ประจำปี 2566 และนายพรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นผู้ประกาศและมอบรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดนิยม ประจำปี 2566 ให้แก่ภาพยนตร์ เรื่อง ลอง ลีฟ เลิฟว์
ทั้งนี้ งานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 ” ประจำปี 2566 จัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (ทรูโฟร์ยู ช่อง 24) เพื่อส่งเสริมและเชิดชูผลงานของบุคลากรในวงการภาพยนตร์และเผยแพร่ชื่อเสียงของภาพยนตร์ไทยให้สาธารณชนได้รับทราบถึงคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความเป็นผู้นำและศักยภาพของวงการภาพยนตร์ไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งปีนี้มีภาพยนตร์เข้าฉายมากถึง 54 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทมากถึง 4 เรื่อง ได้แก่ ขุนพันธ์ , สัปเหร่อ, ธี่หยด และ 4Kings2
ภายในงานมีการประกาศผลและมอบรางวัลพิเศษ 4 รางวัลและรางวัลสาขาต่างๆ 17 สาขา ได้แก่ 1) รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง สัปเหร่อ จากบริษัทไทบ้านสตูดิโอ จำกัดและบริษัทมูฟวี่ พาร์ทเนอร์ จำกัด 2)รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ธิติ ศรีนวล จากภาพยนตร์ เรื่อง สัปเหร่อ 3)รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ ธิติยา จิระพรศิลป์ จากภาพยนตร์ เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน 4) รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ ชาติชาย ชินศรี จากภาพยนตร์ เรื่องสัปเหร่อ 5) รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ อินทิรา เจริญปุระ จากภาพยนตร์ เรื่อง 4Kings2 6) รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้แก่ พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ จากภาพยนตร์ เรื่อง เพื่อน (ไม่) สนิท 7) รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ โดยธิติ ศรีนวล 8) รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง เรดไลฟ์ รักละเลย โดยบุญยนุช ไกรทอง 9)รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง เพื่อน(ไม่)สนิท โดยชลสิทธิ์ อุปนิกขิต 10) รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง ธี่หยอด โดยเอลวิน ที และ บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด
11)รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง สัปเหร่อ เพลง“ยื้อ” โดยปรีชา ปัดภัยและเซิ้ง มิวสิก
12) รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน โดยชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล 13)รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง แมนสรวง โดยนักรบ มูลมานัสและสุประสิทธิ์ ภูตะคาม 14) รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง แมนสรวง โดยกิจจา ลาโพธิ์และนักรบ มูลมานัส 15)รางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง ธี่หยด โดยมีนา จงไพบูลย์ , อัยมี่ อิสลาม , ศิวกร สุขลังการ , อาภรณ์ มีบางยางและรุจิระ ไชยภัฏ 16)รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธ์ 3 โดยบริษัทฮิวแมน ฟาร์ม วีเอฟเอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด , บริษัทเซอร์เรียล สตูดิโอ จำกัดและบริษัทดาร์ค อาร์มี่ สตูดิโอ จำกัด และ17)รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ “The Last Breath of Sam Yan” จาก ยัง ฟิล์ม เมกเกอร์ ออฟ ไทยแลนด์ และบริษัท ฟองเมฆ จำกัด, สามย่านฟิล์ม