คนริมราง เฮ !!! เปิดป้ายชุมชนใหม่ “ชุมชน ชมฟ. ริมบึงมักกะสัน” การแบ่งปันที่ดินในเมืองใหญ่เพื่อที่อยู่อาศัยของ “คนแบกเมือง”

กรุงเทพมหานคร / วันที่ 29 กันยายน 2567 เครือข่ายคนจนเมืองเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ร่วมกับ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และภาคีเครือข่าย จัดงาน เปิดป้ายชุมชนใหม่ ชุมชน ชมฟ.ริมบึงมักกะสัน : การแบ่งปันที่ดินในเมืองใหญ่เพื่อที่อยู่อาศัยของทุกคน และเวทีสาธารณะ จากหมายไล่รื้อสู่สัญญาเช่าบทเรียนและก้าวต่อไป โดยมี นายศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นายกรณิศ  บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี และคณะ ประธาน ชมฟ. ร่วมเป็นเกียรติในงานครั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการ เวทีสาธารณะ การแสดงดนตรีวง “ภูมิใจเสนอ” เยาวชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยมีเครือข่าย ชมฟ. ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค (คลองเตย อุดรธานี ขอนแก่น  กาญจนบุรี) เครือข่ายพัฒนาชุมชนริมคลอง เครือข่ายเมืองภาค กทม.และปริมณฑล เข้าร่วม กว่า 200 คน ณ ที่ตั้งชุมชนใหม่ ชุมชน ชมฟ. ริมบึงมักกะสัน ชอยหมอเหล็ง (ข้างสวนราชเทวีภิรมย์)

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา โดยแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย 3 โครงการ คือโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่ง ผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(Suvarnabhumi Airport Link and City Air Terminal: ARL) โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท (ARL Extension) โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยองแนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อสนันสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) จากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดังกล่าวทำให้ชีวิตคนจนเมือง ต้องถูกไล่รื้อ (ชุมชนแออัด) บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งชุมชนริมทางรถไฟนั้นทอดยาวจากถนนพระราม 6 สู่ถนนพญาไท โดยชุมชนที่ติดฝั่งถนนพระราม 6 หนึ่งในนี้ ได้แก่ ชุมชนบุญร่มไทร รวม 129 ครัวเรือน กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการขับไล่ของ รฟท. เพื่อนำที่ดินกลับมาใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้มีอีก 4 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชุมชนแดงบุหงา 151 ครัวเรือน ชุมชนหลังรพ.เดชา 182 ครัวเรือน ชุมชนหมอเหล็ง 124 ครัวเรือน และ ชุมชนริมทางรถไฟ RCA  58 ครัวเรือน รวม 644 ครัวเรือน

จากผลกระทบดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาในรูปแบบโครงการบ้านมั่นคงตามนโยบายรัฐบาล ในคราวที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันนี้ (14 มีนาคม 2566 )  โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม  ซึ่งจากการประชุมมีวาระที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง 35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570)

ดังนั้น เพื่อตอบรับนโยบายรัฐบาล สถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่บริเวณย่านสถานีที่รถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง โดยใช้พื้นที่บริเวณบึงมักกะสันเป็นพื้นที่รองรับชุมชนดังกล่าว บนพื้นที่ 7.32 ไร่ หรือประมาณ 12,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากทั้ง 5 ชุมชน รวม 644 ครัวเรือน โดยชุมชนจะพัฒนาโครงการนำร่องก่อนในเพสที่ 1 จำนวน 169 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนบุญร่มไทร 31 ครัวเรือน ชุมชนแดงบุหงา 15 ครัวเรือน ชุมชนริมทางรถไฟหลัง รพ.เดชา 24 ครัวเรือน ชุมชนซอยหมอเหล็ง 76 ครัวเรือน และชุมชนริมทางรถไฟ RCA 23 ครัวเรือน

นายเชาว์ เกิดอารีย์ ประธานเครือข่าย ชมฟ. กล่าวว่า ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก การจัดงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์วันที่อยู่อาศัยสากล ปีนี้ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ว่าเราจะมีการพัฒนาในที่ดินใหม่นี้ สหกรณ์บ้านมั่นคงริมบึงมักกะสัน โดยได้รับงบประมาณมา 23 กว่าล้านบาท จะมาสร้างบ้าน สร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ที่พวกเราร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน “ในอดีตเราเป็นผู้บุกรุก ตอนนี้เราจะเป็นผู้บุกเบิก น้ำพักน้ำแรงของเครือข่าย ชมฟ. ที่มาร่วมกันต่อสู้ มาร่วมแบ่งปันที่กับ รฟท. เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงต่อไป

นายศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทน กทม.ขอแสดงความยินดีกับพวกเรา เข้าใจว่าต้องใช้เวลานานมากที่จะได้บ้าน ต้องต่อสู้มาหลายอย่าง วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นบทเรียนที่ กทม.จะต้องถอดบทเรียน กทม. จะมีบทบาทอย่างไร ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พี่น้องชุมชนได้มีบ้าน

คุณกรณิช บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี จากนี้ไปทุกคนต้องมีใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม เพราะว่าทุกคนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ ทุกคนต้องช่วยกันให้ชุมชนนี้ประสบความสำเร็จตามที่ทุกคนปราถนา ที่สำคัญต้องทำให้ชุมชนเป็นชุมชนสีขาว ปลอดยาเสพติด

ดร.สบโชค ณ ศรีโต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตราชเทวี (ว่าที่ ผอ.เขต) ดีใจกับทุกคนที่กำลังจะมีบ้าน ต้องขอบคุณท่านรองศานนท์ ที่ทำฝันของทุกคนให้เป็นจริง   การที่จะมีบ้านสักหลังนึงมันเป็นฝันของทุกคน ที่สำคัญมีบ้านในเมืองและยังมีสวนด้วย และ ตัวผมได้รับโอกาสเป็น ผอ.เขตราชเทวี ก็เพราะสวนราชเทวีภิรมณ์แห่งนี้ ผมจะดูแลสวนนี้ให้ดี เพราะว่าสวนนี้ทำให้ชีวอตราชการของผมถึงฝั่งฝัน  และผมคงทำไม่ได้ถ้าหากขาดพี่น้องในชุมชน  ขอฝากให้ทุกคนในชุมชนช่วยกันดูแลสวนราชเทวีภิรมณ์ให้ร่มรื่นน่าอยู่

นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) วันนี้เป็นวันที่ดีมาก สิ่งที่สำคัญของพี่น้องที่นี่โชคดี ได้อยู่ใกล้พื้นที่สวนอันร่มรื่น สิ่งสำคัญคือเราต้องรักษาชุมชนให้ดีให้เป็นชุมชนสีขาว ปัจจุบันเราได้เช่าที่ดินแล้ว เราจะมีบ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งมีความมั่นในที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

เวทีสาธารณะ “จากหมายไลรื้อสู่สัญญาเช่า: บทเรียนและก้าวต่อไป”

คุณเชาว์ เกิดอารีย์ ประธานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ อยากให้รัฐบาลเปลี่ยนมุมมองหรือให้หน่วยงานเปลี่ยนมุมมอง ให้การพัฒนาของรัฐบาล ไม่ใช่การที่จะจัดวางยังไงให้ให้พวกเราอยู่ตรงไหนแล้วก็การพัฒนามันจะไปยังไง เราจะให้ทางกระทรวงคมนาคมเขาเล็งเห็นว่าการตั้งกลไกทางทางสังคม ที่มีพวกเราหรือว่ามีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมร่วมกันออกแบบ เรื่องที่อยู่อาศัย ระบบไม่ควรจะเป็นการให้หน่วยงานคุยกันเองแล้วก็มาคุยกับชาวบ้านซึ่งเราไม่ต้องการ เราต้องการให้พวกเรามีส่วนร่วมกับการทำงานของหน่วยงานด้วย

คุณอัภยุทย์ จันทรภา ที่ปรึกษาเครือข่าย ชมฟ. ประชาชนตื่นตัวแล้วก็ ก็ต้องปรับตัวถ้าจะกลับไปนิสัยเดิม มันต้องผลิตซ้ำกระบวนการตระหนักรู้ รู้เรื่องสิทธิประชาชนก็ต้องไปส่งเสียง ต้องพยามส่งเสียงให้ภาครัฐ ทำยังไงให้สิทธิที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิที่ถาวรของความเป็นมนุษย์ รัฐบาลจะต้องตระหนักว่าชาวบ้านคงเรียกร้อง เข้าใจว่าชุมชนคนจนก็ต้องเรียกร้องกับตัวเองด้วย แต่เหมือนที่ท่านรองผู้ว่า ท่านอาจารย์พูดว่าเรามาอยู่ในย่านที่มีคนชั้นกลางมีชุมชนดั้งเดิมเค้าอยู่ เราจะพิสูจน์ตัวเรายังไง เขาให้โอกาสเราอยู่กลางเมืองแต่เราจะพิสูจน์ศักดิ์ศรีของเรายังไง เราจะอยู่กลางเมืองได้แบบเป็นชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีการพัฒนาเชิงองค์รวม เรื่องเด็ก เรื่องผู้สูงอายุ เรื่องการประกอบอาชีพจะต่อยอดยังไง อันนี้ชุมชนต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

คุณสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (พอช.)  ในฐานะกระทรวง พม. มีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตเราเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวง พม. เรื่องความเจริญของบ้านเมืองมันก็ต้องมีรถไฟความเร็วสูงไปทางรถก็จำเป็นต้องมี มันต้องดูแล เราจะปรับอย่างไรให้เหมาะสม เราก็ต้องมาหาหนทางร่วมกัน เชื่อว่าเวทีแบบนี้ถ้าเราส่งเสริมให้สังคมเป็นสังคมที่ปกติสุข โครงการของรัฐก็จะไปได้ประชาชนก็มีความสุขสามารถอยู่ด้วยกันได้เรื่องที่สองในฐานะที่เป็นเครื่องมือของพี่น้อง เราก็พยามจะปรับตัวทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของชุมชนให้ดีที่สุด เพราะเข้าใจว่าเราก็ไม่ได้เป็นเครื่องมืออันเดียว เราก็ต้องชวนเพื่อนที่เป็นหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตมาร่วมมือกันเราต้องให้เวลาเราต้องเข้าใจ บางทีก็ต้องใช้เวลาให้ชาวบ้านขึ้นมาพูด ยิ่งพวกเราคุยกันมาก เราก็จะช่วยให้การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเหล่านี้พบกับทางที่ดีที่สุด

คุณศานนท์  หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เริ่มจากวิธีคิดที่เรื่องที่อยู่อาศัยใต้ทุนนิยม บริหารแบบธุรกิจ กทม.ไม่มีที่ดินของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของรถไฟ ที่ของธนารักษ์ วันนี้คนจนเป็นพลังของเมือง พี่น้องรวมตัวกันหน่วยงานรัฐทำงานง่าย คงไม่ง่ายถ้าหากไม่ได้มีชุมชนที่ประสบความสำเร็จเชื่อว่าหากพี่น้องรวมตัวกัน ร่วมขับเคลื่อน รัฐเองก็พร้อมเป็นกลไกด้วย

บมค. ตอนเริ่มทำ มันเหมือนกราฟที่สูง พออยู่สักระยะระบบสาธารณูปโภคยังมีปัญหา อยากให้ กทม. สำนักงานเขตมาร่วมกันตั้งแต่เริ่มสร้างชุมชน จะได้มีการมองถึงเรื่องขนาดของท่อ ฯลฯ สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต อยากให้คิดตั้งแต่ต้น เพื่อรองรับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นการรองรับผู้สูงอายุ ศูนย์เด็ก ที่ต้องมีพื้นที่ร่วมกัน ระบบผังเมือง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยกำหนดพื้นที่ เช่น พื้นที่ทางสังคม ต้องมีการมองถึงตัวชี้วัด เหมือนผังเมืองที่เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม กลไกท้องถิ่น เช่น กทม. อาจจะช่วย พอช. ทำ Land stock และมีการระบุข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบ อาจจะทำร่วมกันในปีหน้า ที่ทำร่วมกัน จะมีคณะทำงาน-กลไกร่วม  การมองถึงมาตรการ ถ้าหากที่นี่สำเร็จ มีระบบการจัดการที่ดี จะนำไปเป็นต้นแบบ อยากชวนภาครัฐจากต่างประเทศ มาดูงานที่นี่ เสมือนเป็นโมเดลการกำจัดความยากจน

รศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เรื่องเงิน กระแสหลักการพัฒนาเมือง เขามองเมืองเป็นกลไกสร้างเศรษฐกิจ ที่ดินมีมูลค่าสูง ความมั่งคั่งที่เติบโตผลประโยช์ไปอยู่กับใคร เคลื่อนบนฐาน ชีวิตทุกคนมีส่วนกับการเจริญเติบโตของเมือง การกระจายความมั่งคั่ง อยู่อย่างเป็นธรรมที่เมืองจะอยู่ได้

บทเรียน มชฟ. มองว่าจะกระจายความมั่งสำหรับคนเล็กคนน้อยต้องชื่นชมการรถไฟที่คิดถึงมูลค่าของที่ดิน ปรับเป็นการให้เช่าที่ดินและมีวิธีการอื่นที่ช่วยมองหาที่ดินรองรับชุมชน คุณูปการที่เกิดขึ้นคือ งดหมายศาลเซ็นสัญญาเช่า ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาเมืองที่ดี จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีรากเหง้า มีความเป็นมนุษย์

ปัจจุบัน ชุมชนได้รับสัญญาการเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อที่เช่ารวม 12,000 ตารางเมตร ค่าเช่ารวม 300,000 บาท ต่อปี  และมีสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี อัตราค่าเช่าที่ดิน 25 บาท/ตารางเมตร/ปี และปรับเพิ่ม 5% ทุก 5 ปี สมาชิกชำระค่าเช่าที่ดินเฉลี่ย 1,775 บาท /ครัวเรือน/ปี สมาชิกมีการออกแบบบ้านร่วมกัน 3 แบบ ดังนี้ บ้านแถว 2 ชั้น บ้านแถว 3 ชั้น และอาคารพักรวม ซึ่งการออกแบบบ้านดังกล่าว ทาง พอช.ได้ออกแบบร่วมกับสมาชิกในชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยจริง โดยราคาการก่อสร้างบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 384,000 บาท ถึง 504,000 บาท และจากการรวมกลุ่มออมทรัพย์ของสมาชิกทั้ง 5 ชุมชน สามารถยกระดับและจัดตั้งเป็นสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ภายใต้ชื่อ  “สหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงเครือข่าย ชมฟ.ริมบึงมักกะสัน จำกัด  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมบึงมักกะสัน จำนวน 23,110,750 บาท  และการขับเคลื่อนงานดังกล่าวนำมาสู่การจัดงานเปิดป้ายชุมชนใหม่ “ชุมชน ชมฟ. ริมบึงมักกะสัน”  เพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงตามแผนงานต่อไป