กฟผ. สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะ “องค์กรที่มีความเป็นเลิศในกิจการถ่านหินของอาเซียน” ในเวที ASEAN Coal Awards 2019 คว้า 3 รางวัลชนะเลิศ ประเภท CCT Utilization, CSR และ Special Submission และ 1 รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภท CSR ตอกย้ำการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 4 กันยายน 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงาน กาล่าดินเนอร์ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 ซึ่งภายในงานมีพิธีมอบรางวัล ASEAN Coal Awards 2019 จัดขึ้นโดย ASEAN center for Energy commitee เพื่อคัดเลือกองค์กรที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ของกิจการถ่านหินของไทยและเคยได้รับรางวัล Thailand Coal Awards 2018 แสดงถึงความเป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในกิจการด้านถ่านหิน การขนส่ง การใช้ประโยชน์ถ่านหิน การใช้เทคโนโลยีสะอาดด้านถ่านหิน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มาร่วมประกวดในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ นายบุญทวี กังวานกิจ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร และพนักงาน เป็นผู้แทน กฟผ. เข้ารับรางวัลจากเวทีดังกล่าว จำนวน 4 รางวัล นอกจากนี้ภายในงานมีองค์กรที่ดำเนินกิจการถ่านหินจากทั่วภูมิภาคอาเซียนกว่า 70 หน่วยงานเข้าร่วมงาน ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯ
นายบุญทวี กังวานกิจ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ในปีนี้ กฟผ. ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 4 รางวัล จากเวที ASEAN Coal Awards 2019 โดยแบ่งออกเป็น รางวัลชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลชนะเลิศ ประเภท การดำเนินการด้านถ่านหินที่เป็นเลิศ การใช้ถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดในโรงไฟฟ้าขนาดกลาง (Best Practice CCT Utilization in Power Generation Medium Scale) จากผลงาน“The Boiler Modification of Clean Coal Power Plant for Utilizing Low Rank Coal” 2.รางวัลชนะเลิศ ประเภท นวัตกรรมด้านถ่านหิน (Special Submission) จากผลงาน “Dust Killer Box (Dust Reduction Equipment from Boom Type Bucket Wheel Reclaimer)” 3.รางวัลชนะเลิศ ประเภท ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) จากผลงาน “Community Participation in Mae Moh Mine’s CSR Process” และ 4.รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภท CSR จากผลงาน Evolution of Mae Moh EGAT’s CSR : The Integrated Cooperation for Community Sustainable Development
สำหรับผลงาน Dust Killer Box หรือ กล่องพิฆาตฝุ่น ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นและนำมาใช้ในการขุด-ขน และลำเลียงถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนโดยรอบเหมืองแม่เมาะเป็นสำคัญ ซึ่งหลังจากการใช้งานกล่องพิฆาตฝุ่นในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า ปริมาณฝุ่นถ่านลดลงเหลือไม่เกิน 5%ความทึบแสง ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ ไม่เกิน 20%ความทึบแสง อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัด เนื่องจากสามารถนำฝุ่นถ่านที่เก็บไว้ในตัวเครื่องมาใช้ผสมกับถ่านคุณภาพดีและนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือผลงานการปรับปรุงหม้อน้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด โดยนำร่องที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 12 แล้วเมื่อปี 2557 เพื่อรองรับการเผาถ่านลิกไนต์ที่มีแคลเซียมออกไซด์ 30% ได้โดยไม่มีการลดกำลังการผลิต ทำให้ กฟผ. ไม่สูญเสียโอกาสในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาและต่อยอดเพื่อนำไปใช้งานกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 – 11 ต่อไป
ในส่วนของการดำเนินงานด้าน CSR กฟผ. มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยมีการสำรวจความต้องการและความคาดหวังของชุมชนเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานด้าน CSR ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด รวมถึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่แนวทางในการปฏิบัติ โดยครอบคลุมการดำเนินงาน 3 มิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรมด้านชุมชน โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศไทย อาทิ การนำวัตถุพลอยได้ ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าไปต่อยอดพัฒนานวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชน และทำให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า กฟผ. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลให้ประชาชนมีไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึง พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการใส่ใจดูแล และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายบุญทวี กังวานกิจ กล่าวในที่สุด