กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างงานสร้างอาชีพ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวในโอกาสนำเสนอผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2567 ว่า ด้วยนโยบายรัฐบาลที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าได้ 56,000 ล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายภายใน ปี 2570 จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 104,000 ล้านบาท ด้วยการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึง ยาไทย ก่อนไปหาหมอ” โดยผลงานที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ดำเนินการขับเคลื่อน คือ การยกระดับและพัฒนาบริการด้านการแพทย์แผนไทย โดยบูรณาการร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวง สาธารณสุขทั่วประเทศ เช่น ร้อยละของจำนวนผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ระยะกลาง (Intermediate Care) ที่ได้รับการดูแลด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (Community base) โดยได้เริ่มดำเนินการในปี 2566 จากเป้าหมายร้อยละ 3 ดำเนินการได้ร้อยละ 9.6 มีผู้ป่วยเข้าถึงจำนวน 20,200 ราย และในปี 2567 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 15.84 โดยมีผู้ป่วยเข้าถึง จำนวน 37,400 ราย  ทั้งนี้ยังได้พัฒนาทักษะหมอนวดกว่า 200,000 คน หมอพื้นบ้าน 48,000 คน เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับเป็น“หมอนวดมือทองขั้นเทพ” รวมถึงพัฒนามาตรฐานโรงเรียนสอนนวด 412 แห่ง ทั่วประเทศ พัฒนาหลักสูตรการนวดไทย 15 หลักสูตร และยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการด้านการให้บริการแพทย์แผนไทยและนวดไทย ทั้งภาครัฐ และ เอกชน 22,000 แห่ง

ด้านสมุนไพรไทย ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ คณะ อนุกรรมการฯ 6 คณะ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องฯ จำนวน 13 ครั้ง มีมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายในประเทศมากกว่า 56,000 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2566)  โดยดำเนินการครอบคลุมทั้ง ปลายน้ำ  กลางน้ำ และต้น น้ำ ได้แก่ การเพิ่มสิทธิประโยชน์การดูแลสุขภาพรองรับประชาชนในสิทธิ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชน ใบเดียว อัตราเหมาจ่ายรายหัว ด้วยสิทธิ สปสช. ด้านบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จาก 20.01 บาท/หัวประชากร เป็น 31.90 บาท/หัวประชากร การผลักดันเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 120 รายการ รวมถึงการยกระดับ Wellness และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทย และสมุนไพร 330 แห่ง ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย (TWD) จำนวน 181 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทย และสมุนไพร 149 แห่ง รวมเป็น 330 แห่ง

นอกจากนี้ยังได้ยกระดับคุณภาพโรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 850 แห่งจาก 1,000 แห่ง เพิ่มโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรจาก 11 แห่ง เป็น 24 แห่ง ยกระดับคุณภาพโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร Premium Herbal Products จำนวน 1,257 รายการ และ สมุนไพร ดีเด่นระดับชาติ Prime Minister Herbal Awards (PMHA)  จำนวน 66 รายการ รวมทั้งสิ้น 1,323 รายการ รวมถึงส่งเสริมพื้นที่ปลูกสมุนไพร 1,059,818 ไร่ พัฒนามาตรฐาน GACP (Good Agricultural And Collcction Practicess ) และยกระดับพร้อมส่งเสริมสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ ตลอดจนพัฒนาเมืองสมุนไพร 16 จังหวัด และส่งเสริมให้มีตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรแห่งแรกของประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาพื้นที่ปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์  พบมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรใน“เมืองสมุนไพร (Herbal City) 16 จังหวัด” มากกว่า 4,352 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2566) โดยสร้างรายได้สะสมในระดับพื้นที่กว่า 11,780 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2564- 2566) และยังสร้างมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบและสารสกัด “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ปี พ.ศ. 2566 เท่ากับ 2,738.73 ล้านบาท