วันที่ 27 กันยายน 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา
จากการที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตาม ว 3/2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2564 เพื่อเป็นการรองรับการขาดแคลนผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารสถานศึกษา และบริหารการศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีการกำกับติดตาม และรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานผู้ใช้ พบว่าปัจจุบัน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีจำนวนตำแหน่งรองผู้อำนวยการที่เพียงพอต่อการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการแล้ว ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งสายงานบริหารใหม่ สำหรับตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เดิมกำหนดให้ครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการสามารถเปลี่ยนสายงานเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ที่ต้องการเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์มีจำนวนลดน้อยลง อีกทั้งให้ความสำคัญกับศึกษานิเทศก์น้อยลง จึงควรปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและเกณฑ์การคัดเลือกให้เหมาะสม รวมทั้งอาจเปิดช่องทางให้บุคคลทั่วไปที่มีวุฒิปริญญาโท หรือปริญญาเอก สามารถเข้ามาสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ด้วย
การปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่นี้ คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่ง 2) วุฒิภาวะ และ 3) ความเป็นผู้นำทางการบริหารและผู้นำทางวิชาการ เพื่อให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งในสายงานดังกล่าวต้องผ่านการสั่งสมประสบการณ์ มีความเป็นผู้นำทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับ มีวุฒิภาวะ รวมทั้งสมรรถนะที่เหมาะสมแก่การเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน รวมถึงเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญของการปรับปรุงใน 4 ประเด็นได้แก่
1. การเข้าสู่ตำแหน่งในสายงานบริหารสถานศึกษา และบริหารการศึกษา ต้องผ่านการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ มีระยะเวลาในการช่วยบริหารสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาที่เหมาะสม
2. มีการกำหนดช่องทางเพิ่มเติมโดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่มิใช่ข้าราชการครูฯ ซึ่งมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ (ยกเว้นสาขาทางด้านการบริหารการศึกษา) มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญระดับสูง สามารถเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้
3. ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษาและนิเทศการศึกษา ต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด
และ 4. มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย ครู และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง สำหรับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เห็นควรให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เดิม ตาม ว 3/2564 และหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/1400 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567
การปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งในครั้งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งในสายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา ให้ประกอบไปด้วยองค์ความรู้ ความสามารถ สมรรถนะ ความเป็นผู้นำ ประสบการณ์และวุฒิภาวะที่เหมาะสมในการเป็นผู้บริหารที่มีความพร้อมในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศต่อไป