สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดงานพิธีมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ชุมชน เพื่อเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ที่มีการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านการปฏิบัติที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ไปใช้ปฏิบัติ เผยแพร่ และต่อยอดสู่ชุมชน
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งการกำหนด การตรวจสอบรับรอง การควบคุม และการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตร ดังนั้นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านการเกษตรที่ปลอดภัย ถือว่าเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้รับความเชื่อมั่นที่ในกลุ่มผู้บริโภค รวมไปถึงการตลาดสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ
มกอช. โดย กองส่งเสริมมาตรฐาน เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดทำโครงการสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ชุมชน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ในขอบข่ายพืช ข้าว ประมง และปศุสัตว์ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการนำมาตรฐานไปปฏิบัติใช้ให้แก่ นักศึกษา ครู และบุคลากรในสถานศึกษาด้านการเกษตรระดับอาชีวศึกษา โดยมุ่งหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจในระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic) ไปปฏิบัติใช้ และเผยแพร่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมไปถึงต่อยอดสู่ชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และเป็นแหล่งการเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ในปี 2567 นี้ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงเข้าร่วมการประกวด กว่า 15 แห่ง ทั่วประเทศ และมีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 20 โครงการ โดยโครงการที่ได้รับรางวัลในแต่ละขอบข่ายมีดังนี้
- ขอบข่ายเกษตรอินทรีย์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี โครงการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานอินทรีย์ มาตรฐานสินค้าเกษตร : เกษตรอินทรีย์ : การผลิต การแปรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผล และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (มกษ. 9000-2564)
และรางวัลชมเชย ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สุพรรณบุรี โครงการข้าวอินทรีย์คุณภาพดีเพื่อการจำหน่าย
- ขอบข่าย GAP ข้าว
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง โครงการผลิตข้าวพันธุ์ กข 79 ปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี โครงการนาน้ำหยดลดโลกร้อน ยกระดับชีวิตเกษตรกรสู่ความยั่งยืน ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (มกษ.4401-2551)
รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ โครงการข้าวไร่หอมหัวบอน GAP ของดีเมืองดาบศาสตร์แห่งภูมิปัญญา รางวัลชมเชย ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โครงการนุ่มเหนียวลืมเคี้ยว ข้าวเหนียวเกษตรศรีฯ
- ขอบข่าย GAP พืชอาหาร
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี โครงการปลูกมันเทศญี่ปุ่นตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2564)
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล โครงการเห็ดแครงปลอดภัยเพาะด้วยใจมาตรฐาน GAP
รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา โครงการผลิตบรอกโคลีไฮโดรโปนิกส์ตามระบบ GAP
รางวัลชมเชย ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพังงา โครงการขมิ้นถ้ำทองหลาง เพื่อการเกษตรที่ดี(GAP) สำหรับพืชอาหารสู่ชุมชนบ้านเขาตำหนอน ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา
- ขอบข่าย GAP ประมง
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี โครงการยกระดับการเลี้ยงปลาชะโอน ตามมาตรฐาน GAP
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา โครงการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ตามมาตรฐานอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค
รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โครงการเลี้ยงปลาไหลนาในถังพลาสติกด้วยระบบน้ำหมุนตามระบบ GAP
รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โครงการกุ้งฝอยพาเพลิน และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี โครงการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย ใส่ใจมาตรฐาน สู่อาหารกลางวันอย่างยั่งยืน ตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ.7436-2563)
- ขอบข่าย GAP ปศุสัตว์
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โครงการ Good Protein จิ้งหรีดไทย ตามมาตรฐาน GAP
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช โครงการไก่งวงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย (มกษ.6916-2565)
รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี โครงการไก่งวงอารมณ์ดี Happy Turkeys ด้วยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย (มกษ.6916-2565)
รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร โครงการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย (มกษ.6914-2560) และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี โครงการฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตรเป็ดไข่อารมณ์ดี ไข่คุณภาพปลอดภัย ห่วงใยชุมชน
“การสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ ความเข้าใจในระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน ถือว่าเป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการวางรากฐานเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรมช่วยบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรภาคการเกษตรในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคคลากรด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตร สอดรับกับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เลขาธิการ มกอช. กล่าว