กรมสุขภาพจิต เผยผลการดำเนินงานปี 2567 ยกระดับระบบบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดและส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตใกล้บ้านใกล้ใจ”

นายแพทย์ พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 ว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดมีแนวโน้มมากขึ้น โดยสถิติการรับบริการ ในปี 2567 มีผู้ป่วยจิตเวช 2.7 ล้านคน 19.14% เป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด อีกทั้งยังพบว่าร้อยละ 47.65 เป็นผู้ก่อความรุนแรงมีประวัติจิตเวชหรือยาเสพติด และมีผู้ป่วยจิตเวช SMI-V เข้าถึงบริการเพียง 16.32% ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช SMI-V จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

ดังนั้น กรมสุขภาพจิต จีงได้ดำเนินการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดและการส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามผังกระบวนงาน Comprehensive Patient Journey (Early intervention – Pre – In –Post Hospital) โดยมีการเปิดให้บริการสายด่วนจิตเวชยาเสพติด 1667 ให้บริการตลอด 24 ชม. โดยพยาบาลวิชาชีพ เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาและประสานส่งต่อผู้ป่วยฯ ผลการดำเนินงาน จำนวน 89 ครั้ง (ข้อมูล ณ 1 พ.ค.-10 ก.ย.67) มีการค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ด้วย V Scan ซึ่งเป็นกระบวนการคัดกรอง การค้นหาเฝ้าระวัง สัญญาณเตือน อาการทางจิตเวชรุนแรงในชุมชน 5 สัญญาณเตือน  ได้แก่ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว  หงุดหงิดฉุนเฉียว และเที่ยวหวาดระแวง โดยนำตัวกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ระบบ Psychiatric Emergency นอกจากนี้ยังจัดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ใน รพศ./รพท. ครบ 127 แห่ง ครอบคลุม 76 จังหวัด ทั่วประเทศ เตียงจิตเวชและยาเสพติด ทั้งหมด 8,096 เตียง และเตียงมินิธัญญารักษ์ 2,699 เตียง รพศ./รพท. ผ่านเกณฑ์หอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดคุณภาพ 64 แห่ง (50.39%) รวมทั้งมีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดใน รพช. 100% รวม 776 แห่ง มีการเปิดบริการผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่บ้าน (Psychiatric Home Word) โดยดำเนินการผ่านสถาบัน/โรงพยาบาลจิตเวช จำนวน 19 แห่ง ให้บริการผู้ป่วย จำนวน 1,305 คน ด้านระบบบริการจิตเวชทางไกล Telepsychiatry ดำเนินการตรวจสุขภาพใจ Mental Health Check-in มีผู้เข้าใช้งานสะสมกว่า 5.6 ล้านคน ซึ่งในปี 2567 พบว่า มีกลุ่ม เสี่ยงที่ได้รับการติดตามช่วยเหลือ 25,549 คน นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังได้ผลักดันยาจิตเวชเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ และดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดมากกว่า 500 คน เพื่อสร้างเสริมระบบบริการสุขภาพจิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในก้าวต่อไปของกรมสุขภาพจิต ยังคงดำเนินงานเชิงรุกด้วยการค้นหาเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วย SMI-V โดย อสม.ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้สมัครใจบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดผ่านสายด่วนจิตเวชยาเสพติด 1667 รวมถึงขับเคลื่อนการจัดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดคุณภาพในเขตสุขภาพ ครบ 100% พร้อมทั้งจัดบริการหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตสุขภาพจิตยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการจัดบริการจิตเวชทางไกล Virtual Hospital (Telepsychiatry และ Psychiatric Home Ward) ในทุกเขตสุขภาพ การผลักดันยาฉีดต้านโรคจิตชนิดออกฤทธิ์เนิ่น (Long-acting Antipsychotic Injection: LAI) เข้าสู่บัญชี ยาหลักแห่งชาติ เพื่อคืนคนคุณภาพสู่สังคมอย่างน้อยให้ได้ร้อยละ 10%