กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ทุกครั้ง หากไม่ได้สวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติก เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว ซึ่งจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมและมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไข้ฉี่หนู ได้แก่ จังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม น่าน และระนอง
วันที่ 5 กันยายน 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม สิ่งที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ โรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมที่ต้องแช่น้ำหรือลุยน้ำเป็นเวลานาน หรืออยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง และควรทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด เพื่อกำจัดแหล่งรวมเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วันที่ 1 มกราคม – 30 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู 1,314 ราย เสียชีวิต 16 ราย เกือบร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเกษตรกร ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ เลย สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา น่าน ระนอง พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง ยะลา พัทลุง กระบี่ สงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม น่าน และระนอง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
อาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค ยิ่งพบแพทย์เร็ว ยิ่งมีโอกาสหายเร็ว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง 2.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 5 กันยายน 2562