สธ. เผย รอบ 24 ชม. มี “น้ำท่วม” เพิ่ม 9 จังหวัด กระทบ รพ.อีก 3 แห่ง เฝ้าระวังหลายพื้นที่แนวโน้มระดับน้ำสูงขึ้น

กระทรวงสาธารณสุข เผย รอบ 24 ชั่วโมง มีสถานการณ์น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 9 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่ม 3 แห่ง รวมเป็น 74 แห่ง ยังมีรพ.สต.ต้องปิดให้บริการ 1 แห่ง ห่วงหลายพื้นที่ระดับน้ำแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งลำปาง เชียงใหม่ ชัยภูมิ เลย เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี กำชับเฝ้าระวัง เข้มมาตรการดูแลประชาชน ให้ทุก สสจ.รายงานทุกวันก่อน 16.00 น. พร้อมแนะ 3 สมุนไพรมีฤทธิ์ต้านเชื้อ ต้านการอักเสบ และสมานแผลช่วยดูแลสุขภาพช่วงน้ำท่วม

วันที่ 25 กันยายน 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 9/2567 ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่ามีสถานการณ์น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำพูน เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี ขอนแก่น เลย และชัยภูมิ รวมยังมีสถานการณ์ใน 19 จังหวัด ผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้น 93 ราย สะสมเป็น 1,364 ราย เสียชีวิตสะสม 48 ราย ส่วนสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่ม 3 แห่ง รวมสะสม 74 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ 73 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสะสม 2,419 ทีม ดูแลประชาชนสะสม 144,685 ราย บริการสุขภาพจิต 28,235 ราย และดูแลกลุ่มเปราะบาง 21,266 ราย ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรายงานสถานการณ์อุทกภัย ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกวัน ก่อนเวลา 16.00 น.

 

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์ในหลายพื้นยังน่าเป็นห่วงจากฝนตกหนักและระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น “ลำปาง” อ.เกาะคา เป็นพื้นที่รองรับน้ำจาก อ.ห้างฉัตร “เชียงใหม่” ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน “ชัยภูมิ” มีฝนร้อยละ 60 เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ แม่น้ำชีระดับน้ำสูงขึ้นแต่ยังไม่ล้นตลิ่ง “เลย” ฝนมากทั่วทุกพื้นที่ “เพชรบูรณ์” ฝนตกหนักต่อเนื่องใน อ.หล่มเก่า แม่น้ำป่าสัก ลำน้ำพุง และลำน้ำสาขา มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และ “ปราจีนบุรี” น้ำเอ่อล้นตลิ่งและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม อ.กบินทร์บุรี อ.นาดี และ อ.ประจันตคาม ได้กำชับทุกพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังและวางมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งจัดบริการด้านการแพทย์ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เตรียมยาและเวชภัณฑ์ สื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม และดูแลสุขภาพจิต

“สำหรับยาและเวชภัณฑ์ยังคงมีเพียงพอในการสนับสนุนดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะยาโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นโรคที่พบจากน้ำท่วมมากที่สุด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้สนับสนุนยาน้ำกัดเท้าบาทาพิทักษ์/ DTAM LINAMIN BALM STICK เพิ่มขึ้น 7,400 ขวด สะสมรวม 37,884 ขวด รวมทั้งแนะนำสมุนไพรที่นำมาใช้ดูสุขภาพในช่วงน้ำท่วมได้ เช่น ใบพญายอ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส สมานแผล, ใบทองพันชั่ง และเหง้าขมิ้นชัน มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และสมานแผล” นพ.วีรวุฒิกล่าว