กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบศูนย์อนามัยในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์และสิ่งของที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับใช้ลดปัญหาขาดแคลน น้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด พร้อมแนะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้คุมเข้มจุดอพยพหรือศูนย์พักพิงเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อตามมา
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า กรมอนามัยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยในช่วงนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนสิ่งของและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการขยะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่จะตามมา โดยเบื้องต้นได้จัดส่ง “ชุดนายสะอาด” ซึ่งภายในประกอบด้วย ถุงดำขนาดเล็ก ถุงดำขนาดใหญ่ หยดทิพย์ เจลล้างมือ สารส้มก้อน น้ำยาล้างจาน ถุงซิปล็อค และเอกสารคำแนะนำต่างๆ จำนวนกว่า 2,000 ชุด พร้อมสาธิตวิธีการใช้ให้กับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
“นอกจากนี้ มอบหมายให้ศูนย์อนามัยส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณจุดอพยพหรือศูนย์พักพิงให้เข้าใจวิธีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้ 1) ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะ พื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ และกางมุ้งเพื่อป้องกันยุง หากเป็นเต็นท์ควรปรับพื้นให้เรียบ ปูด้วยผ้ายางหรือพลาสติก กำจัดมดและแมลงโดยการโรยปูนขาวรอบ ๆ บริเวณเต็นท์ 2) การทิ้งขยะ ต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุ ไม่รั่วซึม เช่น พลาสติก หากใช้ปี๊บควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง ถังขยะต้องมีฝาปิด และมีการแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียกและถังขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการกำจัด โดยรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้ 3) สถานที่ปรุงอาหารหรือครัวควรระบายอากาศได้ดี แยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก เพื่อป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค มีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียม ปรุงอาหาร ไม่วางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ เป็นต้น 4) สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาด และถูกสุขลักษณะ และ 5) ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และห้องซักล้าง ควรอยู่ใกล้จุดจ่ายน้ำ สำหรับห้องส้วมต้องมีผนังกั้นมิดชิด สามารถทำเป็นที่อาบน้ำแบบรวม แต่ควรแยกชาย–หญิง ต้องมีส้วมสำหรับขับถ่ายและมีระบบเก็บกักอุจจาระ ห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ
5 กันยายน 2562