ยธ. เตรียมเคาะระเบียบเยียวยาเหยื่อทรมาน-หลังกฎหมายทรมานและอุ้มหายบังคับใช้ร้องเรียน ๑๒๕ เรื่อง

นับเป็นเวลากว่า ๑ ปี หลังจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ (หรือกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย) ได้มีผลบังคับใช้ โดยวันนี้ ( ๒๓ กันยายน ๒๕๖๗) พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการและปราบปรามการทรมานฯ ครั้งที่ ๓ /๒๕๖๗ ณ ห้องประชุม ๑๐-๐๑ อาคารกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ

พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้รับทราบผลการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ อาทิ สถิติการรับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน จำนวน ๑๒๕ เรื่อง สั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จำนวน ๑ เรื่อง ยุติเรื่อง ๔๔ เรื่องที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและสอบสวนเพิ่มเติม ตลอดจนความคืบหน้าของร่างระเบียบคณะกรรมการฯว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้เสียหาย รวมทั้งการจัดกลไกเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า จากกรณีการเสียชีวิตของพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต จากการฝึกซ้อมที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย นำไปสู่การฟ้องคดีของพนักงานอัยการต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค ๕ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินคดีต่อครูฝึกทหาร ๒ นาย ซึ่งนับเป็นคดีแรกหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ แต่จำเลยทั้งสองราย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการฟ้องคดีทหารในศาลพลเรือนขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ หรือไม่ และศาลมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างศาล ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ซึ่งผลการพิจารณาเป็นประการใด จะถือว่าที่สิ้นสุด ส่วนกรณีที่เป็นข่าวและระบุว่าเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๖ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางได้รับตัว ผู้ต้องขังรายหนึ่ง ปรากฎว่าพบร่องรอยบาดแผล ซึ่งผู้ต้องขังดังกล่าว อ้างว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นเกิดจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของกรมการปกครอง ซึ่งเป็นไปตามอำนาจที่กฎหมายได้กำหนดไว้ สำหรับการเยียวยาผู้เสียหายตามกฎหมายนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้ยกร่างระเบียบเสร็จแล้ว ทั้งการช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบเงิน และรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น กรณีถูกกระทำทรมาน มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ๕ แสนบาท เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็วๆนี้

เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้อนุวัติจากอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ๒ ฉบับ หรือที่รู้จักกันในนาม อนุสัญญาซ้อมทรมาน และอนุสัญญาอุ้มหาย ภายหลังการขับเคลื่อนกฎหมายและการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในรูปแบบต่างๆ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว แต่ยังพบข้อจำกัดหลายประการ เช่น การตีความกฎหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน กล้องบันทึกวิดิโอไม่เพียงพอ ระบบฐานข้อมูลกลางการเก็บสถิติ รวมทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดทำคู่มือการตีความและแนวปฏิบัติตามกฎหมาย การสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กว้างขวาง การจัดทำระบบ E-learning ตลอดจนระบบข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียน ให้มีความถูกต้องตรงกันด้วย

———————————————–

23 กันยายน 2567