สธ.เผย “รมต.สมศักดิ์” เร่งแก้ปัญหางบผู้ป่วยใน ของบกลางแล้ว 5,924 ล้านบาท ช่วยคงอัตราจ่ายเดิม พร้อมวางแนวทางระยะกลาง-ยาว

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าใจและให้ความสำคัญแก้ปัญหางบผู้ป่วยใน สปสช. ระยะสั้นของบกลาง 5,924 ล้านบาท ช่วยคงอัตราการจ่ายเดิมที่ 8,350 บาทต่อหน่วย เตรียมประชุมบอร์ด สปสช. 23 ก.ย.นี้ เพื่อปรับประกาศอัตราจ่ายให้เท่าเดิม ระยะกลาง สร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการงบ ลดขัดแย้งผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ระยะยาว ทำระบบที่สมดุล ยั่งยืน มีธรรมาภิบาล

วันนี้ (21 กันยายน 2567) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องอัตราและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผลกระทบที่มีต่อโรงพยาบาลทุกระดับนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีความเข้าใจและให้ความสำคัญ รวมทั้งได้เข้ามาแก้ปัญหาการจัดการกองทุน สปสช. เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ รองรับการเข้าถึงและการให้บริการประชาชนที่มีมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ระบบการจัดการและการใช้งบกองทุนแบบเดิมที่ใช้มา 22 ปี ไม่สามารถตอบสนองสถานการณ์ รวมถึงนโยบายต่อยอด 30 บาทรักษาทุกที่ได้ จึงต้องคำนึงถึงการสร้างระบบให้มีความสมดุล ยั่งยืน มีธรรมภิบาล และโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งแม้ท่านรัฐมนตรีเพิ่งจะเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน แต่ก็มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นแล้ว โดยของบกลางเพิ่ม 5,924 ล้านบาท เพื่อให้สามารถคงอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในได้เท่าเดิมที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วย (adjRW) เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างราบรื่น ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

“ในการประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 23 กันยายน 2567 ท่านรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ก็จะประชุมเพื่อขยับอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน จากที่ก่อนหน้านี้ สปสช.มีการประกาศเหลือ 7 พันบาทต่อหน่วยให้กลับมาเท่าเดิมด้วย” นพ.สุรโชคกล่าว

นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไป ได้แก่ ระยะกลาง แม้งบผู้ป่วยในในปีงบประมาณ 2568 จะได้รับอนุมัติงบเพิ่มขึ้นประมาณ 16% น่าจะทำให้อัตราจ่ายค่าบริการต่อหน่วยเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องของการบริหารจัดการงบกองทุน สปสช. ปีงบประมาณ 2568 ก็จะขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมตามกฎหมาย เพื่อให้บอร์ด สปสช. และอนุกรรมการชุดต่างๆ สามารถดำเนินการได้คล่องตัว ลดความขัดแย้งระหว่างผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการในสิทธิที่เหมาะสม ตรวจสอบได้ ส่วนในระยะยาวจะดำเนินการจัดระบบบริหารกองทุนให้มีความยั่งยืน สมดุล และมีธรรมาภิบาล สอดคล้องตามบริบทของสังคมไทย