สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออก : จ.ปราจีนบุรี (128 มม.) ภาคใต้ : จ.ระนอง (127 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สกลนคร (95 มม.) ภาคเหนือ : จ.นครสวรรค์ (94 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (93 มม.) ภาคตะวันตก : จ.การญจนบุรี (38 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ซูลิก” เคลื่อนปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่
คาดการณ์ :.ช่วงวันที่ 21–23 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ซูลิก” เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 68% ของความจุเก็บกัก (54,860 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 53% (30,675 ล้าน ลบ.ม.)

3. ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 16/2567 ลงวันที่ 17 ก.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 19 – 25 ก.ย. 67 ดังนี้
3.1 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ
จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร..นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล
3.2 เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
3.3 เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำยม แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย ห้วยหลวง แม่น้ำสงคราม แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด

4.การให้ความช่วยเหลือ : วานนี้ 20 ก.ย. 67 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับมอบสิ่งของบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและร่วมกันหารือแก้ไขปัญหารวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเสนอข้อพิจารณา ดังนี้
1. การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาวในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยสร้างเขื่อนริมแม่น้ำสาย
2. Application กลางในการจ่ายงานกู้ภัยและการขอความช่วยเหลือ รวมถึงการรายงานตัวแบบออนไลน์ โดยให้รัฐบาลเป็นแกนกลางสั่งการ
3. รัฐบาลเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนกลุ่มอาสาสมัคร รวมถึงยกเว้นภาษีองค์กรการกุศล
4. สุขภาพอนามัยของผู้ประสบอุทกภัย ยาป้องกันโรคต่าง ๆ
5. การแจ้งเตือนภัย และความน่าเชื่อถือของการแจ้งเตือน
6. สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือแก่ทีมกู้ภัย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยและการกำจัดดินโคลนเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยให้กองทัพบกและกระทรวงมหาดไทยนำกำลังพลพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ดำเนินการช่วยเหลือปัญหาดินโคลนให้เร็วที่สุด

5. สถานการณ์น้ำท่วม : วันที่ 19 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย และเมืองฯ) จ.พิษณุโลก (พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ.หนองคาย (สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ รัตนวาปี และโพนพิสัย) จ.บึงกาฬ (โซ่พิสัย บึงโขงหลง เซกา พรเจริญ ปากคาด เมืองฯ บุ่งคล้า และศรีวิไล) จ.พระนครศรีอยุธยา (บางบาล บางปะหัน ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา เสนา และบางไทร) จ.สตูล (ควนโดน เมืองฯ ท่าแพ มะนัง ละงู และควนกาหลง)