บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 – 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ คือ อำเภอแม่สาย อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงชัย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอแม่อาย  และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังบริเวณจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขงอีก 7 จังหวัด คือ     จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 มีฝนตกต่อเนื่องทำให้เกิดอุทกภัยส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดน่าน

ล่าสุดวันนี้ (20กันยายน2567) คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้มีมติ พักชำระหนี้ให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ ครั้งที่ 10/2567 โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น3 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) บางกะปิ กรุงเทพฯ

องค์กรผู้ใช้สินเชื่อได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้านเรือนของสมาชิกได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุยางิ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ จำเป็นต้องทำความสะอาดและซ่อมแซม จำนวน 17 องค์กร สมาชิกที่ได้รับผลกระทบ 4,483 ครัวเรือน แบ่งเป็นสินเชื่อบ้านมั่นคง จำนวน 9 องค์กร สมาชิกที่ได้รับผลกระทบ 586 ครัวเรือน  สินเชื่ออื่น จำนวน 8 องค์กร สมาชิกที่ได้รับผลกระทบ 3,897 ครัวเรือน องค์กรผู้ใช้สินเชื่อพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 12 องค์กร สมาชิกที่ได้รับผลกระทบ 1,951 ครัวเรือน แบ่งเป็น  สินเชื่อบ้านมั่นคง จำนวน 10 องค์กร สมาชิกที่ได้รับผลกระทบ 812 ครัวเรือน สินเชื่ออื่น จำนวน 2 องค์กร สมาชิกที่ได้รับผลกระทบ 1,139 ครัวเรือน

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ กล่าวว่า  การพักชำระหนี้ให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมเวลา 3 เดือนนั้น  ให้ทางชุมชนสำรวจข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ทั้งองค์กรผู้ใช้สินเชื่อทุกประเภทสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (เช่น ผลกระทบด้านอาชีพและรายได้)  ดังนั้นเพื่อให้การช่วยเหลือองค์กรผู้ใช้สินเชื่อครอบคลุมทุกองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ สถาบันอาจทำข้อมูลแบ่งเป็น 2 ระยะ (องค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบแล้วและองค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบระยะถัดไป) ทั้งนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อควรจัดทำแผนรองรับกรณีที่เกิดน้ำท่วมในอนาคต

ซึ่งคณะกรรมการสถาบันได้มีมิติเห็นชอบด้วยหลักการที่เสนอ โดยองค์ผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ ซึ่งยื่นความจำนงค์ผ่านสำนักงานภาค และหากมีกรณีเร่งด่วนให้นำมาเสนอบอร์ดเป็นรายกรณีไป พอช. เป็นองค์กรที่ทำให้องค์กรชุมชนรับรู้ว่าเราไม่ทอดทิ้งเขา และอยู่เคียงข้างในยามที่ชุมชนได้รับความยากลำบาก  ดร.กอบศักดิ์  กล่าวในตอนท้าย